รู้ป่าว! เกม PlayStation เริ่มต้นกำเนิดมาจาก “ความแค้น”

หลายๆคนคงรู้จักกับเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชัน (PlayStation) ที่มีความนิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและเป็นคอนโซลวิดีโอเกมเครื่องแรกที่สามารถทำยอดขายได้มากกว่า 100 ล้านเครื่อง อะไรที่ทำให้บริษัทโซนี่ (Sony) สามารถตีตลาดวิดีโอเกมนี้ได้

จุดเริ่มต้นกำเนิด
ประวัติของเพลย์สเตชันเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1988 เนื่องจากบริษัทโซนี่และบริษัทนินเทนโด (Nintendo) ได้ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนา Super Famicom CD-ROM โดยในขณะนั้นบริษัทนินเทนโด เป็นผู้นำตลาดและครองส่วนแบ่งคอนโซลวิดีโอเกมเป็นส่วนใหญ่ สำหรับบริษัทโซนี่นั้นยังไม่ได้เข้าสู่ตลาดวิดีโอเกม แต่พวกเขาอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดนี้ด้วย จึงได้ทำการร่วมมือกับผู้นำตลาดอย่างบริษัทนินเทนโดและพวกเขาเชื่อว่าเป็นโอกาสดีที่จะประสบความสำเร็จ

Super Famicom CD-ROM เป็นคอนโซลวิดีโอเกมที่สามารถใช้ได้ทั้งซีดีและตลับเกมที่ได้พัฒนาร่วมกันโดย เคน คูทารากิ (Ken Kutaragi) วิศวกรของบริษัทโซนี่ โดยก่อนที่จะเปิดตัวคอนโซลวิดีโอเกมเครื่องนี้ ก็โดนยกเลิกทั้งที่มีตัวเครื่องต้นแบบและเคยได้ไปโชว์ในงาน Consumer Electronics Show (CES) ในปี ค.ศ. 1991 มาแล้ว โดยสาเหตุเกิดจากบริษัทนินเทนโดไม่พอใจที่บริษัทโซนี่ขอจัดจำหน่ายเกมที่ใช้ซีดีบนคอนโซลวิดีโอเกมทั้งหมด ทำให้บริษัทนินเทนโดตัดสินใจร่วมมือกับบริษัทฟิลิปส์ (Philips) ที่เป็นคู่แข่งเรื่องซีดีกับบริษัทโซนี่ และนั่นคือเป็นการหักหน้าซึ่งเป็นจุดแตกหักและความแค้น ทำให้เกิดการแยกทางกันทางธุรกิจของบริษัททั้งสอง คูทารากิวิศวกรของบริษัทโซนี่จึงได้รับมอบหมายให้พัฒนาคอนโซลวิดีโอเกมเพื่อที่จะเอาชนะบริษัทนินเทนโด

เครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชันต้นแบบ (Sony PlayStation Prototype) ถูกผลิตขึ้นมาเพียง 200 เครื่อง โดยเครื่องคอนโซลวิดีโอเกมนี้สามารถเล่นตลับเกม Super Nintendo ได้ โดยในการออกแบบครั้งนี้ออกแบบให้สามารถใช้งานได้อเนกประสงค์ คือ สามารถเล่นซีดีเพลง วิดีโอและอ่านซีดีที่ใช้บนคอมพิวเตอร์ได้ แต่สุดท้ายต้นแบบเหล่านี้ก็ถูกทิ้งและไม่ได้นำมาใช้งานอีก

คูทารากิได้พัฒนาเกมในรูปแบบกราฟิกแบบ 3 มิติ แต่ไม่ใช่ทุกคนในบริษัทที่จะเห็นด้วยกับโครงการนี้ จากนั้นส่วนพัฒนาเกมก็ย้ายมาอยู่ที่บริษัทโซนี่มิวสิก (Sony Music) ในปี ค.ศ. 1992 ก่อนที่พวกเขาแยกตัวออกไปเพื่อก่อตั้งเป็นบริษัทโซนี่คอมพิวเตอร์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ (Sony Computer Entertainment, Inc.: SCEI) ในปี ค.ศ. 1993 และเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัทโซนี่ อินเตอร์แอ็กทีฟ เอนเตอร์เทนเมนต์ (Sony Interactive Entertainment) ในปี ค.ศ. 2016

ซึ่งบริษัทใหม่นี้สามารถดึงดูดนักพัฒนาและพันธมิตรซึ่งรวมถึงบริษัทอิเล็กทรอนิก อาตส์ (Electronic Arts) และบริษัทนัมโค (Namco) ซึ่งพวกเขาตื่นเต้นเกี่ยวกับคอนโซลที่ใช้ซีดีรอม (CD-ROM) โดยที่การผลิตซีดีรอมนั้นทำได้ง่ายและถูกกว่าเมื่อเทียบกับเกมแบบตลับที่บริษัทนินเทนโดใช้

ในปี ค.ศ. 1994 เพลย์สเตชันเอกซ์ (PlayStation X : PSX) ได้เปิดตัวใหม่และไม่รองรับตลับเกมของบริษัทนินเทนโดอีกต่อไป โดยจะใช้เล่นเฉพาะเกมที่ใช้ซีดีรอมซึ่งเป็นการตลาดที่ยอดเยี่ยมและกลายเป็นเครื่องคอนโซลวิดีโอเกมที่ขายดีที่สุดในไม่ช้า

โดยตัวเครื่องคอนโซลวิดีโอเกมจะมีสีเทารูปร่างค่อนข้างบางเฉียบและจอยสติ๊กของ PSX สามารถควบคุมได้มากกว่าตัวควบคุมของคู่แข่งอย่างเครื่องคอนโซลวิดีโอเกมเซก้า แซทเทิร์น (Sega Saturn) โดยในเดือนแรกที่วางขายในญี่ปุ่นมียอดขายมากกว่า 300,000 เครื่องเลยทีเดียว

ในปี ค.ศ. 1995 เดือนพฤษภาคม เครื่องคอนโซลวิดีโอเกมเพลย์สเตชันได้ถูกจัดแสดงโชว์ในงาน Electronic Entertainment Expo (E3) ในลอสแองเจลิสประเทศสหรัฐอเมริกา และสามารถจัดจำหน่ายเครื่องคอนโซลวิดีโอเกมล่วงหน้าได้กว่า 100,000 เครื่องในเดือนกันยายน และภายในหนึ่งปี พวกเขาสามารถขายได้เกือบ 2 ล้านเครื่อง ในสหรัฐอเมริกาและมากกว่า 7 ล้านเครื่องทั่วโลก และสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 100 ล้านเครื่อง ภายในปี ค.ศ. 2003

ทั้งนี้ความสำเร็จเกิดจากการที่บริษัทโซนี่เอาใจใส่ในการทำงานร่วมกันกับนักพัฒนาและค่ายเกมแทบทุกค่าย ทำให้เพลย์สเตชัน (Playstation) ได้ถูกพัฒนามาเรื่อยๆจนถึงเพลย์สเตชัน 5 (Playstation 5) ที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จนทำให้บริษัทสามารถขึ้นมาเป็นผู้ครองตลาดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง: Thoughtco

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *