นี่คืออัญมณี “แทนซาไนต์”(หายาก) มีที่เดียวในโลกในบริเวณภูเขาคิลิมันจาโร

หากพูดถึงอัญมณีแน่นอนว่าหลายคนอาจจะนึกถึงเพชร อัญมณีที่ขึ้นชื่อเรื่องความแข็ง หายากและราคาค่อนข้างแพงเนื่องจากความหายากของมัน แต่ก็ยังมีอัญมณีที่หาได้ยากยิ่งกว่าเพชรถึง 1,000 เท่า โดยเป็นอัญมณีที่สามารถขุดพบได้ที่แห่งเดียวบนโลกเท่านั้นซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเพชรแล้วนั้นจะสามารถพบได้ในกว่า 30 ประเทศและในหลายๆทวีปทั่วโลก

แทนซาไนต์ (Tanzanite) เป็นอัญมณีที่สามารถขุดพบได้ที่แห่งเดียวบนโลกจากบริเวณที่มีเพียง 20 ตารางกิโลเมตร ที่ใกล้ภูเขาคิลิมันจาโร (Mount Kilimanjaro) ในประเทศแทนซาเนีย (Tanzania) เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงว่าเป็นอัญมณีสีฟ้าอมม่วงที่สดใส

เบรนด้า ฮาร์วิค (Brenda Harwick) ผู้จัดการอาวุโสของสถาบันอัญมณีแห่งอเมริกา (Gemological Institute of America: GIA) ในด้านอัญมณีศาสตร์ สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด ซึ่งแทนซาไนต์เป็นชนิดของซอยไซต์ (Zoisite) ที่มีองค์ประกอบทางเคมีที่เฉพาะเจาะจง ที่ประกอบไปด้วยแคลเซียม (Calcium), อะลูมิเนียม (Aluminum), ซิลิกาออกไซด์ (Silica Oxide) และไฮดรอกไซด์ (Hydroxide) ที่เรียกว่าแคลเซียมอะลูมิเนียมไฮดรอกซีซิลิเกต (Calcium Aluminum Hydroxy Silicate) แต่ที่สำคัญคืออัญมณีนี้ไม่สามารถพบได้ทุกที่บนโลก เพราะต้องมีอุณหภูมิ ความดัน และองค์ประกอบทางเคมีที่เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก

ความแข็งของแทนซาไนต์อยู่ในช่วง 6 ถึง 7 ในขณะที่เพชรจะมีความแข็งอยู่ที่ 10 จากการวัดความแข็งแร่ของโมส (The Mohs Hardness Scale) ซึ่งทำให้แทนซาไนต์ง่ายต่อการขีดข่วนมากกว่า นอกจากนี้ยังไวต่อความร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างกะทันหัน โดยแทนซาไนต์ส่วนใหญ่ที่ขุดได้จะไม่ใช่สีที่สดใสแต่จะมีเฉดสีน้ำตาล ทำให้อัญมณีที่ขุดได้มากถึง 95% นั้นผ่านการอบชุบด้วยความร้อนเพื่อให้ได้สีน้ำเงินและวิธีการตัดแทนซาไนต์นั้นก็อาจจะทำให้สีของมันเปลี่ยนไปเป็นสีเทาหรือสีม่วงได้เช่นกัน นั่นทำให้ค่าของมันลดลง แต่อย่างไรก็ตามสีของแทนซาไนต์ที่ถูกผ่านกระบวนการเจียระไนแล้วนั้นสีของมันจะคงที่ ดังนั้นผู้ซื้อจึงไม่ต้องกังวลว่าสีจะซีดจางลง

พวกมันมีอายุมาหลายร้อยล้านปีแล้ว แต่อัญมณีเหล่านี้เพิ่งได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1967 ตามเว็บไซต์ของชิมันสกี้ (Shimansky) ผู้ค้าเพชรพลอยในเมืองเคปทาวน์-นิวยอร์ก กล่าวว่า แทนซาไนต์ถูกค้นพบครั้งแรกโดยชนเผ่ามาไซ (Masai Tribesman) ที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือ ภาคกลาง และตอนใต้ของเคนยา และตอนเหนือของแทนซาเนีย ซึ่งสังเกตเห็นคริสตัลสีฟ้าสดใสเป็นครั้งแรกและได้ติดต่อกับมานูเอล เดอ ซูซา (Manuel de Souza) ช่างตัดเสื้อและนักสำรวจแร่ชาวอินเดีย ได้ลงไปสำรวจด้วยตนเองและได้อ้างสิทธิ์ในการขุดของพื้นที่แห่งนี้

แฮร์รี่ แพลทท์ (Harry Platt) อดีตประธานบริษัททิฟฟานี่แอนด์โค (Tiffany & Co.) เป็นผู้ที่แนะนำอัญมณีสีน้ำเงินเหล่านี้ให้โลกได้เห็น ตามรายงานของเดอะนิวยอร์กทาม (The New York Times) แฮร์รี่พบมันขณะเยี่ยมชมช่างเจียระไนในยุโรปและได้รับสิทธิ์ในการขายอัญมณีเหล่านี้ และยังได้ตั้งชื่อให้กับมันอีกด้วย โดยเขาได้ตั้งชื่อตามประเทศที่พวกมันถูกค้นพบเพื่อเป็นการให้เกียรติ

แม้ว่าแทนซาไนต์นั้นจะหายากกว่าทั้งเพชรและไพลิน แต่ก็มีราคาที่ถูกกว่าซึ่งเหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นปัจจัยด้านความทนทานของแทนซาไนต์นั่นเอง โดยราคาจะขึ้นอยู่กับขนาดและสีของมัน

แทนซาไนต์เป็นที่รู้จักมากขึ้นจากเครื่องประดับในปี ค.ศ. 1968 จากสไตล์การออกแบบของบริษัททิฟฟานี่แอนด์โค ที่ออกแบบทั้งสร้อยคอและต่างหูสำหรับโอกาสพิเศษเพราะเป็นอัญมณีที่มีความแข็งไม่มากนัก เช่นเดียวกับอัญมณีหลายๆชนิด แทนซาไนต์ไม่มีมูลค่าทางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ บางคนถือว่าอัญมณีมีจุดประสงค์เพื่อการรักษาหรือเพื่อจิตวิญญาณ แต่เราไม่สามารถเจาะลึกประวัติศาสตร์ของแทนซาไนต์ได้มากนัก เนื่องจากการค้นพบนี้เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน

อ้างอิง: Science.howstuffworks

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *