นี่คือค้นพบองค์ประกอบ “สารอินทรีย์” จากดาวเคราะห์น้อยรีวงู

นักวิทยาศาสตร์ได้สำรวจอวกาศและได้เก็บตัวอย่างต่างๆ แล้วนำมาศึกษาและวิเคราะห์เพื่อหาองค์ประกอบ

รูปที่ 1. ตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยรีวงู (อ้างอิง: Techspot)

นี่คือการค้นพบสารอินทรีย์สำหรับสิ่งมีชีวิตจากการวิเคราะห์ตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยรีวงู (Asteroid Ryugu) ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ระหว่างโลกและดาวอังคาร ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญหลายอย่างสำหรับสิ่งมีชีวิต จากการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ (Journal Science) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 เป็นหนึ่งในการสำรวจตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยรีวงูที่นำกลับมาโดยยานอวกาศฮายาบูซะ 2 (Hayabusa2) ของญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2020 โดยภารกิจนี้เป็นเพียงครั้งที่สองเท่านั้นที่ยานอวกาศประสบความสำเร็จ ซึ่งการเก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อย ในปี ค.ศ. 2010 ภารกิจแรกของฮายาบูซะได้นำฝุ่นกลับมาจากดาวเคราะห์น้อยอิโตะกะวะ (Itokawa) แต่ตัวอย่างนั้นมีขนาดเพียงไม่กี่ไมโครกรัมเนื่องจากความล้มเหลวของระบบการรวบรวม เมื่อเปรียบเทียบแล้วฮายาบูซะ 2 นั้นได้เก็บตัวอย่างได้น้ำหนักมากกว่า 5 กรัม จากหินอวกาศที่รู้จักกันอย่างเป็นทางการว่า 162173 Ryugu มายังโลก

การวิเคราะห์ตัวอย่างส่วนเล็กๆนี้ เผยให้เห็นว่าดาวเคราะห์น้อยที่อุดมด้วยคาร์บอนยังมีโมเลกุลที่มีความสำคัญต่อชีวิตที่รู้จักทั้งหมด ซึ่งรวมถึงกรดอะมิโน 15 ​​ชนิด ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของโปรตีน โมเลกุลเหล่านี้เองไม่มีชีวิต แต่เนื่องจากพบได้ในทุกชีวิต นักวิทยาศาสตร์จึงเรียกพวกมันว่า พรีไบโอติก (Prebiotic) นักวิจัยทราบจากการศึกษาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับอุกกาบาตที่พบบนโลกว่าอุกกาบาตสามารถมีโมเลกุลของพรีไบโอติกได้ แต่อุกกาบาตที่ตกลงมาจากชั้นบรรยากาศของโลกอาจสะสมสารประกอบดังกล่าวเนื่องจากการปนเปื้อน ยังไม่ชัดเจนว่าโมเลกุลเหล่านี้สามารถอยู่รอดได้บนพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยหรืออยู่ลึกเข้าไปในด้านในของดาวเคราะห์น้อยเท่านั้น ส่วนในกรณีนี้นั้นโมเลกุลมาจากฝุ่นบนพื้นผิว

รูปที่ 2. องค์ประกอบสำคัญหลายอย่างสำหรับชีวิตจากตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยรีวงู (อ้างอิง: Interestingengineering)

การปรากฏตัวของโมเลกุลพรีไบโอติกบนพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยแม้จะมีสภาพแวดล้อมที่รุนแรงซึ่งเกิดจากความร้อนจากแสงอาทิตย์และการฉายรังสีอัลตราไวโอเลต รวมถึงการฉายรังสีคอสมิกภายใต้สภาวะที่มีสุญญากาศสูง แสดงให้เห็นว่าพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยรีวงูมีศักยภาพในการปกป้องโมเลกุลอินทรีย์ ฮิโรชิ นาราโอกะ (Hiroshi Naraoka) ผู้นำการศึกษาของมหาวิทยาลัยคิวชูในญี่ปุ่นกล่าว นั่นหมายความว่าดาวเคราะห์น้อยนั้นอาจจะแพร่กระจายองค์ประกอบของสิ่งชีวิตไปทั่วระบบสุริยะ

และจากการศึกษาครั้งที่สองซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ วัสดุอินทรีย์บนดาวเคราะห์น้อยรีวงูอาจจะเกิดขึ้นก่อนการก่อตัวของระบบสุริยะ แทนที่จะก่อตัวขึ้นในเมฆระหว่างดวงดาวในยุคดึกดำบรรพ์ของฝุ่นระหว่างดวงดาวที่รวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์น้อยรีวงู กล่าวอีกนัยหนึ่ง ส่วนผสมหลายอย่างสำหรับสิ่งมีชีวิตอาจจะมีอยู่ในระบบสุริยะตั้งแต่เริ่มต้น

ดาวเคราะห์น้อยรีวงูเป็นดาวเคราะห์น้อยประเภทคาร์บอน (Carbonaceous) ซึ่งคิดเป็น 75% ของดาวเคราะห์น้อยที่พบในระบบสุริยะ ดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้โดยพื้นฐานแล้วเป็นเศษซากที่หลงเหลืออยู่เมื่อระบบสุริยะก่อตัวขึ้น ทำให้พวกมันเป็นเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับโมเลกุลที่มีอยู่เมื่อ 4.5 พันล้านปีก่อน จากความร่วมมือกับองค์การอวกาศของญี่ปุ่นและนาซ่า ที่ได้รับตัวอย่างยานอวกาศฮายาบูซะ 2 ประมาณ 10% สำหรับการทดสอบ โดยมีการวิจัยเพิ่มเติมในยุโรปด้วย

ฮิโรชิและทีมงานระหว่างประเทศขนาดใหญ่สกัดโมเลกุลจากตัวอย่างเพียง 30 ไมโครกรัม โดยใช้ตัวทำละลายที่หลากหลายและวิเคราะห์สารอินทรีย์ พวกเขาพบสารประกอบหลายพันชนิดที่มีคาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน ออกซิเจน กำมะถัน รวมทั้งกรดอะมิโน 15 ​​ชนิด สารประกอบอื่นๆ ได้แก่ เอมีนซึ่งมีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบ และกรดคาร์บอกซิลิกซึ่งมีโครงสร้างเฉพาะ ได้แก่ คาร์บอน ออกซิเจน และไฮโดรเจน สารประกอบที่ค้นพบโดยทั่วไปสอดคล้องกับสิ่งที่เห็นในอุกกาบาตที่มีคาร์บอน เจสัน ดเวิร์คกิ้น (Jason Dworkin) นักชีวดาราศาสตร์แห่งศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดของนาซ่ากล่าว อย่างไรก็ตาม นักวิจัยไม่พบน้ำตาลหรือนิวคลีโอเบสซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของ DNA และ RNA

เป็นไปได้ว่าสารประกอบเหล่านี้มีอยู่ในดาวเคราะห์น้อยรีวงู แต่อยู่ต่ำกว่าขีดจำกัดการตรวจจับเชิงวิเคราะห์ของเรา เนื่องจากมีมวลตัวอย่างค่อนข้างน้อยสำหรับการศึกษา แดเนียล กลาวิน (Daniel Glavin) นักชีวดาราศาสตร์แห่งศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดของนาซ่ากล่าว นักวิจัยเพิ่งเริ่มวิเคราะห์ตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยรีวงูและวางแผนเปรียบเทียบพวกมันกับตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยดวงอื่นในเร็วๆนี้ ในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2023 ภารกิจ OSIRIS-REx ของนาซ่ามีกำหนดจะส่งตัวอย่างจาก 101955 Bennu ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีคาร์บอนอีกดวงหนึ่งมายังโลกเจสันกล่าวว่า ภารกิจ OSIRIS-REx คาดว่าจะเก็บมวลตัวอย่างจำนวนมากและจะเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งในการค้นหาร่องรอยขององค์ประกอบสารอินทรีย์ของสิ่งมีชีวิตในดาวเคราะห์น้อยที่อุดมด้วยคาร์บอนเจสันกล่าว

อ้างอิง: Livescience, Science, Science

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *