รู้ป่าว! ทำไมบางครั้งเราถึง “จำความฝัน” (ตัวเอง) ไม่ได้

เราใช้เวลาหนึ่งในสามของชีวิตไปสำหรับการนอน แล้วบางครั้งเรามักจะฝัน แต่บ่อยครั้งคุณจะจำความฝันตัวเองไม่ได้ หรือบางครั้งคุณอาจจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับความทรงจำถึงความฝันที่ยังล่องลอยอยู่ในใจ แต่เพียงไม่นานความทรงจำนั้นก็จะหายไปในอากาศและกลับสู่ดินแดนแห่งความฝัน

เรามีแนวโน้มที่จะลืมความฝันทันที และมีแนวโน้มว่าคนที่ไม่ค่อยคิดถึงความฝันมักจะลืมความฝันได้ง่ายขึ้น โธมัส แอนดริลลอน (Thomas Andrillon) นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยโมนาชในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย กล่าว

อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อว่าคุณมีความฝันหากคุณจำอะไรไม่ได้ แต่จากการศึกษาพบว่า แม้แต่คนที่ไม่เคยจำความฝันตัวเองได้แม้แต่ครั้งเดียวในรอบหลายสิบปีหรือแม้แต่ตลอดชีวิตของพวกเขา ที่จริงแล้วพวกเขาจะจำความฝันเหล่านั้นได้ถ้าพวกเขาตื่นขึ้นในเวลาที่เหมาะสม

แม้จะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดนัก แต่นักวิทยาศาสตร์ได้เข้าใจกระบวนการของความจำในระหว่างการนอนหลับ ซึ่งนำไปสู่แนวคิดหลายอย่างที่อาจจะอธิบายการหลงลืมที่แปลกประหลาดของเราได้

เมื่อเราเผลอหลับไป ไม่ใช่ว่าทุกส่วนของสมองจะออฟไลน์ในเวลาเดียวกัน จากการศึกษาในปี ค ศ. 2011 ในวารสาร Neuron นักวิจัยพบว่าบริเวณสุดท้ายที่จะนอนหลับคือ ฮิปโปแคมปัส ซึ่งเป็นโครงสร้างโค้งที่อยู่ภายในสมองแต่ละซีก และมีความสำคัญต่อการย้ายข้อมูลจากหน่วยความจำระยะสั้นไปยังหน่วยความจำระยะยาว

ถ้าฮิปโปแคมปัสเป็นส่วนสุดท้ายที่หลับใหล มันอาจจะเป็นส่วนสุดท้ายที่ตื่นขึ้น ดังนั้น คุณอาจจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับความฝันในความทรงจำระยะสั้นของคุณ แต่เนื่องจากฮิปโปแคมปัสยังไม่ตื่นเต็มที่ สมองของคุณจึงไม่สามารถเก็บความทรงจำเหล่านั้นได้ โธมัส กล่าว

แม้ว่าสิ่งนี้อาจจะอธิบายได้ว่าทำไมความทรงจำในความฝันถึงหายวับไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าฮิปโปแคมปัสของคุณไม่ได้ใช้งานตลอดทั้งคืน แต่ในความเป็นจริงสมองส่วนนี้จะทำงานระหว่างการนอนหลับ และดูเหมือนว่าจะจัดเก็บและดูแลความทรงจำที่มีอยู่เพื่อรวมเข้าด้วยกัน แทนที่จะฟังประสบการณ์ใหม่ที่เข้ามา

ข้อมูลบางอย่างแสดงให้เห็นว่า ในช่วงการนอนหลับบางช่วงฮิปโปแคมปัสกำลังส่งข้อมูลไปยังเยื่อหุ้มสมอง แต่ไม่ได้รับข้อมูลใดๆ การสื่อสารทางเดียวนี้จะอนุญาตให้ส่งความทรงจำจากฮิบโปแคมปัสไปยังเยื่อหุ้มสมองของสมองเพื่อการจัดเก็บในระยะยาว แต่ข้อมูลใหม่จะไม่ถูกบันทึกไว้โดยฮิปโปแคมปัส โธมัส กล่าว

ในขณะที่ตื่นนอนสมองอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 นาทีเพื่อเริ่มต้นความสามารถในการเข้ารหัสหน่วยความจำ ในการศึกษาปี ค.ศ. 2017 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Human Neuroscience นักวิจัยในฝรั่งเศสได้ติดตามรูปแบบการนอนหลับใน 18 คนที่มีรายงานว่าจำความฝันของตนได้แทบทุกวัน และอีก 18 คนที่จำความฝันไม่ค่อยได้ ทีมงานพบว่าผู้ที่จำความฝันได้มักตื่นบ่อยในตอนกลางคืนมากกว่า โดยการตื่นกลางดึกจะใช้เวลาเฉลี่ย 2 นาที สำหรับผู้จำความฝันได้ ในขณะผู้ที่จำความฝันไม่ได้ใช้เวลาเฉลี่ย 1 นาที

ความสามารถในการเข้ารหัสความทรงจำใหม่ระหว่างการนอนหลับนั้นเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงในระดับของสารสื่อประสาทสองชนิด ได้แก่ อะซิติลโคลีน (Acetylcholine) และนอร์ดรีนาลีน (Noradrenaline) ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาความทรงจำ เมื่อเราเผลอหลับไปอะซิติลโคลีนและนอร์ดรีนาลีนจะลดลงอย่างมาก

จากนั้น สิ่งแปลกประหลาดก็เกิดขึ้นเมื่อเราเข้าสู่ช่วงการนอนหลับอย่างรวดเร็ว (REM) ซึ่งเป็นช่วงมีที่ความฝันชัดเจนที่สุดที่เกิดขึ้น ในช่วงนี้อะซิติลโคลีนจะทำงานกลับสู่ในระดับปกติ แต่นอร์ดรีนาลีนจะคงที่อยู่ในระดับต่ำ

นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปริศนานี้ได้ แต่บางคนกล่าวว่าการรวมกันของสารสื่อประสาทอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราลืมความฝัน การเพิ่มขึ้นของอะเซทิลโคลีนทำให้คอร์เทกซ์อยู่ในสภาวะกระตุ้นคล้ายกับการตื่นตัว ในขณะที่นอร์ดรีนาลีนที่ลดต่ำลงจะลดความสามารถของจิตในช่วงเวลานี้ จากการศึกษาในปี ค.ศ. 2017 ในวารสาร Behavioral and Brain Sciences

บางครั้งความฝันของคุณก็ได้ไม่น่าจดจำ
คุณจำสิ่งที่คุณคิดเมื่อตอนเช้าขณะแปรงฟันได้หรือไม่? จิตใจของเราล่องลอยอยู่ตลอดเวลา แต่เรามักจะลืมความคิดเหล่านั้นเป็นส่วนใหญ่เพราะว่าเป็นข้อมูลที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องฝันกลางวันสมองถือว่าไร้ประโยชน์เกินกว่าที่จะจดจำ นักวิจัย เออร์เนสต์ ฮาร์ทมันน์ (Ernest Hartmann) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ที่คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยทัฟส์ เขียนใน Scientific American กล่าว

หากคุณตั้งใจที่จะจำความฝันของคุณ มีเคล็ดลับลองคือ แนะนำให้ดื่มน้ำก่อนนอน เพราะจะทำให้คุณตื่นขึ้นในตอนกลางคืนเพื่อใช้ห้องน้ำ เพราะการตื่นกลางดึกมักมาพร้อมกับการจำความฝันได้ โรเบิร์ต สติกโกลด์ (Robert Stickgold) รองศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ที่ Harvard Medical School กล่าว

อ้างอิง: livescience

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *