นี่คือการขุดพบ “ควอทซ์”(ก้อนยักษ์) ในรัฐอาร์คันซอ

ตั้งแต่หินทรายไปจนถึงอัญมณี ควอตซ์มีอยู่ทั่วไป ในรูปแบบธรรมชาติ พวกมันเป็นแร่ธาตุที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในเปลือกโลก ซึ่งถูกใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในนาฬิกา วิทยุ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ

รูปที่ 1. ผลึกควอทซ์ก้อนยักษ์ขนาด 2.5 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 900 กิโลกรัม (อ้างอิง: Nine)

นี่คือการพบผลึกควอทซ์ (Quartz) ก้อนยักษ์ขนาด 2.5 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 900 กิโลกรัม ที่ถูกประเมินราคาไว้ที่ประมาณ 152,706,000 บาท (4 ล้านดอลลาร์) ในปี ค.ศ. 2016 จากภาพแสดงคนงานเหมืองนั่งอยู่ข้างหินควอตซ์ ที่ถูกค้นพบในเหมืองของบริษัทรอนโคลแมนไมนิ่ง (Ron Coleman Mining) ในเจสซีวิลล์ (Jessieville) ทางเหนือของเมืองฮอตสปริง (Hot Springs) ที่ห่างไปประมาณ 30 นาที ในรัฐอาร์คันซอ (Arkansas) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ

โจเอล เลดเบตเตอร์ (Joel Ledbetter) โฆษกของบริษัทรอนโคลแมนไมนิ่ง บอกกับหนังสือพิมพ์ว่าชายในภาพนั้นคือหนึ่งในทีมชุดขุด ที่ต้องใช้เวลาถึง 4 วัน ในการขุดควอตซ์ก้อนนี้ เขากล่าวว่า จากการคาดการณ์ว่าแถวที่อยู่นั่นเป็นแหล่งที่มีสายแร่ควอทซ์ยาวถึง 275 กิโลเมตร ที่ลากผ่านรัฐอาร์คันซอ ดังนั้นเราจึงเริ่มต้นขุดและทำเหมืองที่นี่ โจเอลกล่าว

รูปที่ 2. เหมืองของบริษัทรอนโคลแมนไมนิ่งในรัฐอาร์คันซอ (อ้างอิง: Nine)

ก่อนขุดคนงานเหมืองระเบิดพื้นที่รอบๆด้วยระเบิดจนกว่าพวกเขาจะพบกับสายแร่ควอตซ์ จากนั้นก็ใช้เครื่องจักรลากไปตามพื้นผิวและพบกับควอทซ์ก้อนยักษ์นี้ บริษัทกล่าวว่าควอทซ์ก้อนยักษ์นี้มูลค่าสูง เนื่องจากหลังจากที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินความใส คุณภาพ สภาพ เอกลักษณ์และขนาดที่ใหญ่ของมันนั่นคือสิ่งที่ทำให้มันมีราคาแพงมาก ถ้ามันไม่ใสหรือมีแต้มที่เสียหายก็คงจะมีราคาน้อยกว่านี้ แต่บริษัทยังไม่พบผู้ซื้อหรือยังไม่เปิดเผย

ซึ่งควอตซ์นั้นเป็นแร่ที่กระจายอยู่ทั่วไปหลายชนิดที่ประกอบด้วยซิลิกา (Silica) เป็นหลัก หรือซิลิกอนไดออกไซด์ (silicon dioxide) โดยอาจจะมีสิ่งเจือปนเล็กน้อย เช่น ลิเธียม โซเดียม โพแทสเซียม และไททาเนียม ควอตซ์ได้รับความสนใจตั้งแต่อดีต ชาวกรีกโบราณรู้จักในชื่อคริสตัลหินที่เรียกกันทั่วไปว่าคริสตัล ส่วนชื่อควอตซ์นั้นเป็นคำในภาษาเยอรมันโบราณที่มีแหล่งกำเนิดที่ไม่แน่นอน ซึ่งถูกใช้ครั้งแรกโดยจอร์จิอุส อากริโคลา (Georgius Agricola) ในปี ค.ศ. 1530

ควอตซ์มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างมาก อัญมณีหลายชนิด ได้แก่ อเมทิสต์ ซิทริน สโมคกี้ควอตซ์ และโรสควอตซ์ ประกอบด้วยควอตซ์เป็นส่วนใหญ่ ทรายควอทซ์จำนวนมากหรือที่เรียกว่าทรายซิลิกาถูกใช้ในการผลิตแก้ว เซรามิกและสำหรับแม่พิมพ์หล่อในการหล่อโลหะ ควอตซ์ยังถูกนำมาบดใช้เป็นวัสดุขัดในกระดาษทราย ทรายซิลิกาใช้ในการพ่นทรายและหินทรายยังคงใช้ทั้งหมดเพื่อทำหินลับ หินโม่ และหินลับ แก้วซิลิกาถูกใช้ในเลนส์เพื่อส่งแสงอัลตราไวโอเลต ท่อและภาชนะควอตซ์หลอมละลายต่างๆ มีการใช้งานในห้องปฏิบัติการที่สำคัญ และมีการใช้เส้นใยควอตซ์ในอุปกรณ์ชั่งน้ำหนักที่มีความไวสูง

รูปที่ 3. ควอตซ์และโครงสร้างทางเคมีของทั้งอัลฟ่าและเบต้า โดยลูกบอลสีแดงคือออกซิเจน สีเทาคือซิลิกอน (อ้างอิง: Britannica, Wikipedia)

ควอตซ์เป็นแร่ธาตุที่มีมากเป็นอันดับ 2 ในเปลือกโลกรองจากเฟลด์สปาร์ (Feldspar) ซึ่งควอตซ์นั้นถูกแบ่งเป็น 2 รูปแบบคืออัลฟ่า-ควอตซ์ (α-Quartz) และเบต้า-ควอตซ์ (β-Quartz) ควอตซ์นั้นเป็นเพียโซอิเล็กทริก (Piezoelectric) คือการสร้างและสะสมพลังงานจากแรงกระทบ โดยมีการเปลี่ยนแปลงพลังงานจลน์จากการเคลื่อนที่ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า และถูกใช้สำหรับควบคุมความถี่ในวิทยุ โทรทัศน์ และอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ และสำหรับนาฬิกา โดยประเทศที่มีการผลิตควอตซ์รายใหญ่ของโลกได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย แต่ก็ยังมีเบลเยียม บราซิล บัลแกเรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี แอฟริกาใต้ และสหราชอาณาจักรก็สามารถขุดแร่ในปริมาณมากได้เช่นกัน

อ้างอิง: Nine, Britannica

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *