นี่คือ “หมุด”(ขั้วโลกใต้) เป็นที่คุณสามารถเดินทางไปได้หลายเขตเวลา

บนโลกเรานั้นมีพื้นที่ที่รับแสงอาทิตย์แตกต่างกันไปทำให้เราจำเป็นต้องมีการแบ่งเขตเวลา โดยเราสามารถแบ่งเขตเวลาตามพื้นที่โดยใช้เส้นลองจิจูด (Longitude) ซึ่งแต่ละเส้นเส้นลองจิจูดนั้นจะมีจุดตัดกันอยู่ที่แกนหมุนที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ โดยที่จุดตัดที่ขั้วโลกเหนืออยู่ในบริเวณมหาสมุทร แต่ที่ขั้วโลกใต้นั้นจะอยู่บนพื้นน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกา

รูปที่ 1. หมุดเครื่องหมายขั้วโลกปี ค.ศ. 2021 และแผ่นที่ขั้วโลกใต้ทางภูมิศาสตร์ (อ้างอิง: Southpolestation, Newworldencyclopedia)

นี่คือหมุดเครื่องหมายขั้วโลก (Pole Marker) ที่ตั้งอยู่ในขั้วโลกใต้หรือที่เรียกว่าขั้วโลกใต้ทางภูมิศาสตร์ (Geographic South Pole) ซึ่งเป็นจุดใต้สุดบนพื้นผิวโลกที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของโลกจากขั้วโลกเหนือ ซึ่งจะแตกต่างจากขั้วแม่เหล็กใต้ซึ่งกำหนดโดยสนามแม่เหล็กของโลก และมักจะอยู่ในตำแหน่งที่ต่างจากขั้วใต้ทางกายภาพเสมอ เนื่องจากที่ตั้งที่ห่างไกล สภาพอากาศและอุณหภูมิที่สุดขั้ว ทำให้ขั้วโลกใต้จึงเป็นหนึ่งในสถานที่สุดท้ายบนโลกที่มีการสำรวจ

นักสำรวจโรอัลด์ อมุนด์เซ่น (Roald Amundsen) และพรรคพวกของเขาเป็นคนแรกที่ไปถึงขั้วโลกใต้ในวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1911 ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานีขั้วโลกใต้อมุนด์เซ่น-สกอตต์ (Amundsen-Scott) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1956 และมีพนักงานประจำตั้งแต่วันนั้น

ในช่วงกลางฤดูร้อน เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นถึงระดับความสูงสูงสุดประมาณ 23.5 องศา อุณหภูมิที่ขั้วโลกใต้เฉลี่ยอยู่ที่ -25°C ช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนกันยายนอุณหภูมิจะอยู่ที่ −45°C และในฤดูหนาวอุณหภูมิจะคงที่ที่ประมาณ −65°C โดยอุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึกไว้ที่สถานีขั้วโลกใต้อมุนด์เซ่น-สกอตต์คือ -13.6°C และอุณหภูมิต่ำสุดคือ −82.8°C

รูปที่ 2. ธงชาติผู้ลงนามในสนธิสัญญาแอนตาร์กติก (อ้างอิง: Designweek)

ขั้วโลกใต้มีหมุดทรงกลมโลหะบนฐานที่ล้อมรอบด้วยธงชาติผู้ลงนามในสนธิสัญญาแอนตาร์กติกได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย เบลเยียม ชิลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ รัสเซีย สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ และสหรัฐอเมริกา

ขั้วโลกใต้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางสำหรับการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและให้ข้อมูลที่มีค่าสำหรับนักวิทยาศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจแนวโน้มของสภาพอากาศโลก เช่น ภาวะโลกร้อนและการสูญเสียโอโซน เนื่องจากความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการสำรวจและการวิจัยที่ดำเนินการในทวีปแอนตาร์กติก ความมุ่งมั่นในความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างสันติและมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก

ในสถานที่ส่วนใหญ่บนโลก เวลาท้องถิ่นจะเชื่อมโยงกับตำแหน่งของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า โดยใช้เส้นลองจิจูดที่เชื่อมระหว่างขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้แบ่งโลกออกเป็นเขตเวลาที่ต่างกัน ประเทศหรือภูมิภาคอาจมีหลายเขตเวลา ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกากระจายอยู่ในเขตเวลาหกเขต อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเส้นลองจิจูดทุกเส้นมาบรรจบกันที่ขั้วโลก หมายความว่าหมุดเครื่องหมายขั้วโลกตั้งอยู่นั้นทางเทคนิคแล้วมันจะเป็นเขตเวลาทั้งหมดพร้อมกัน ซึ่งหมายความว่า ถ้าเราเดินไปรอบหมุดเครื่องหมายขั้วโลกเราจะสามารถเดินทางข้ามแต่ละเขตเวลาทั่วโลกได้ เหมือนกับว่าเราสามารถเดินทางข้ามเวลาไปยัง อดีต ปัจจุบันและอนาคต แต่เพื่อความสะดวกในทางปฏิบัติ สถานีขั้วโลกใต้อมุนด์เซ่น-สกอตต์ จะใช้เวลาของนิวซีแลนด์

รูปที่ 3. หมุดเครื่องหมายขั้วโลกและเสาจะถูกเปลี่ยนตำแหน่งในช่วงปี ค.ศ. 2016-2020 (อ้างอิง: Southpolestation)

หมุดเครื่องหมายขั้วโลกขั้วที่ตั้งอยู่บนทวีปแอนตาร์กติกา เนื่องจากการเคลื่อนตัวของทวีปที่ตั้งอยู่บนน้ำแข็งที่ราบสูง โดยแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกเคลื่อนที่ด้วยอัตราประมาณ 10 เมตรต่อปี ดังนั้น เมื่อเทียบกับพื้นผิวน้ำแข็งและอาคารที่สร้างขึ้นบนนั้น ตำแหน่งที่แน่นอนของขั้วโลกจะค่อยๆเปลี่ยนไปตามกาลเวลา โดยหมุดเครื่องหมายขั้วโลกและเสาจะถูกเปลี่ยนตำแหน่งทุกๆปี ในวันขึ้นปีใหม่เพื่อชดเชยการเคลื่อนตัวของน้ำแข็งและป้ายหมุดจะถูกบันทึกวันที่ตามลำดับ

อ้างอิง: Icestories, Southpolestation, Newworldencyclopedia,

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *