นี่คือปรากฏการณ์ “สตีฟ” ที่ปรากฏขึ้นในช่วงพายุสุริยะรุนแรง

มีคนพบเห็นปรากฏการณ์สตีฟทั่วสหรัฐอเมริกาและบางส่วนของสหราชอาณาจักรหลังจากพายุสุริยะที่ทรงพลังที่สุดพัดเข้าใส่โลกของเรา

รูปที่ 1. ปรากฏการณ์สตีฟสีม่วงสดใสตัดกับท้องฟ้ายามค่ำคืนเหนืออุทยานแห่งชาติแบดแลนด์ ในเซาท์ดาโคตาในช่วงดึกของวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2023 (อ้างอิง: Livescience)

นี่คือการปล่อยความร้อนรุนแรงจากการเร่งความเร็ว (Strong Thermal Emission Velocity Enhancement: STEVE) หรือที่เรียกว่า ปรากฏการณ์สตีฟ ที่คล้ายกับแสงออโรราที่แปลกประหลาด ซึ่งปรากฏขึ้นหลายครั้งทั่วสหรัฐอเมริกาและบางส่วนของสหราชอาณาจักร หลังจากการเกิดพายุสุริยะกำลังแรงพัดเข้าสู่โลกโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า ปรากฏการณ์สตีฟเป็นปรากฏการณ์ที่หาได้ยากซึ่งถูกค้นพบอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2016 ในระหว่างที่เกิดปรากฏการณ์สตีฟจะเห็นแถบแสงที่ยาวและหนา ซึ่งมักจะเป็นสีขาว สีม่วง หรือสีเขียว ลอยอยู่บนท้องฟ้านานถึงหนึ่งชั่วโมง แม้ว่ามันจะดูคล้ายกับแสงออโรราหรือแสงเหนือ และมักปรากฏขึ้นพร้อมกัน แต่ปรากฏการณ์สตีฟไม่ใช่แสงออโรรา

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2023 การพุ่งตัวออกมาของมวลโคโรนาอย่างน่าประหลาดใจ (CME) ซึ่งเป็นก้อนพลาสมาและสนามแม่เหล็กขนาดมหึมาที่เคลื่อนที่เร็วถูกปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์ ปะทุขึ้นจากหลุมขนาดใหญ่ในดวงอาทิตย์ซึ่งกว้างกว่า 20 เท่าของโลก โดยนักดาราศาสตร์มองไม่เห็นว่าพายุล่องหนกำลังมาเพราะมันเดินทางช้ากว่าการพุ่งตัวออกมาของมวลโคโรนาทั่วไปมาก ดังนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะติดตาม พายุแม่เหล็กโลกที่เกิดขึ้นบนโลกมีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 6 ปี และทำให้เกิดแสงออโรราที่น่าตื่นตาตื่นใจไปทั่วโลก

รูปที่ 2. ปรากฏการณ์สตีฟสีแดงและสีขาวพร้อมกับแสงออโรราสีเขียวบนท้องฟ้าเหนือรัฐวอชิงตัน (อ้างอิง: Livescience)

พายุสุริยะที่รุนแรงยังก่อให้เกิดการพบเห็นปรากฏการณ์สตีฟในวงกว้างอย่างผิดปกติ ปรากฏการณ์นี้ถูกถ่ายในเซาท์ดาโคตา รัฐวอชิงตัน ที่ไอดาโฮในมอนทานาถึง 2 ครั้ง และในสกอตแลนด์ในสหราชอาณาจักร และอาจจะปรากฏให้เห็นในสถานที่อื่นๆด้วยเช่นกัน ตามข้อมูลของ Spacewaether.com ในช่วงแสงออโรรา อนุภาคพลังงานสูงจากพายุสุริยะและลมสุริยะจะทะลุผ่านสนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์หรือแมกนีโตสเฟียร์ และกระตุ้นโมเลกุลของก๊าซในชั้นบรรยากาศชั้นบน สิ่งนี้จะสร้างแสงหมุนวนที่ลดลงและไหลไปตามกาลเวลา แต่ปรากฏการณ์สตีฟไม่ได้ถูกกระตุ้นโดยอนุภาคพลังงานสูง และสามารถเกิดขึ้นได้ไกลจากขั้วของโลกมากกว่าแสงออโรราที่มักจะปรากฏ แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะยังไม่แน่ใจว่าเหตุใด

ปรากฏการณ์สตีฟเกิดจากพลาสมาร้อนหรือก๊าซไอออไนซ์ที่แตกตัวผ่านชั้นแมกนีโตสเฟียร์ของโลกและเข้าสู่ชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์เนื่องจากการรบกวนของสนามแม่เหล็กระหว่างพายุสุริยะ พลาสมานี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 21,400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสร้างแรงเสียดทานกับอากาศโดยรอบและกระตุ้นให้โมเลกุลเรืองแสงในลักษณะเดียวกับแสงออโรรา แต่การไหลเวียนของพลาสมาอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางสายตาที่ไม่เคลื่อนไหวสำหรับผู้สังเกตการณ์ เมื่อเทียบกับแสงของออโรรา

รูปที่ 3. ปรากฏการณ์สตีฟเหนืออุทยานแห่งชาติแบดแลนด์พร้อมกับแสงออโรราสีเขียว ในช่วงดึกของวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2023 (อ้างอิง: Livescience)

ปรากฏการณ์สตีฟยังสามารถมาพร้อมกับแสงสีเขียวเป็นเส้นๆ ที่กระพริบบนท้องฟ้าเป็นเวลาประมาณ 30 วินาทีก่อนที่จะหายไป ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเส้นๆเหล่านี้ก่อตัวขึ้นในลักษณะที่คล้ายกับแสงออโรรา แต่แสงที่ส่องเป็นเส้นยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างสมบูรณ์ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ปรากฏการณ์สตีฟปรากฏตัวเหนืออเมริกาเหนือ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2022 ปรากฏการณ์สตีฟถูกถ่ายภาพอย่างน่าทึ่งหลังจากที่มันโผล่ขึ้นมาบนท้องฟ้าทางตอนใต้ของแคนาดาหลังจากเกิดพายุสุริยะที่น่าประหลาดใจอีกครั้งที่พัดมายังโลก

อ้างอิง: Livescience

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *