นี่คือการค้นพบ “ซากฟอสซิล”(นกเพนกวิน) ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา

ถ้าพูดถึงนกหลายคนคงนึกถึงสัตว์ที่สามารถโบยบินไปบนท้องฟ้าอย่างอิสระ แต่ก็มีนกบางชนิดที่ไม่สามารถบินได้และหนึ่งในนั้นคือ นกเพนกวิน

รูปที่ 1. ซากฟอสซิลนกเพนกวินที่ใหญ่ที่สุดที่เคยค้นพบบนโลก คูมิมานูฟอร์ไดซ์  (อ้างอิง: New-dinosaurs, Livescience)

นี่คือการค้นพบซากฟอสซิลนกเพนกวินโบราณ 2 สายพันธุ์ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน หนึ่งในสายพันธุ์ใหม่คือนกเพนกวินที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา โดยนักวิจัยในนิวซีแลนด์ เมื่อกว่า 50 ล้านปีที่แล้ว นกเพนกวินเหล่านี้น่าจะร่อนเร่ผ่านมหาสมุทรรอบๆ ประเทศนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน

โดยซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ชนิดใหม่ที่พบนี้ คูมิมานูฟอร์ไดซ์ (Kumimanu Fordycei) ถูกพบร่วมกับตัวอย่างอีก 8 ชนิด ภายในโขดหินชายหาดในโอทาโกเหนือ (North Otago) บนเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ ตัวอย่างที่เหลือ 5 ตัวอย่าง เป็นของสายพันธุ์ใหม่ที่พบใหม่เพตราไดปต์สโตนเฮาซี (Petradyptes Stonehousei) ตัวอย่างหนึ่งเป็นของนกเพนกวินยักษ์ที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งคือ คูมิมานูไบซีเอ (Kumimanu Biceae) และอีกสองตัวไม่ปรากฏชื่อ โดยมีอายุระหว่าง 55.5-59.5 ล้านปีที่แล้ว

ในการศึกษาซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 ในวารสารบรรพชีวินวิทยา (Journal of Paleontology) นักวิจัยประเมินน้ำหนักของสองสายพันธุ์ที่เพิ่งค้นพบโดยพิจารณาจากขนาดและความหนาแน่นของกระดูกเมื่อเทียบกับนกเพนกวินสมัยใหม่ ทีมงานพบว่าเพตราไดปต์สโตนเฮาซีน่าจะมีน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าน้ำหนักของเพนกวินจักรพรรดิ (Emperor Penguins) ที่ยังมีชีวิต และคูมิมานูฟอร์ไดซ์คงจะมีน้ำหนักมากกว่านั้นถึง 3 เท่า ซึ่งจะมีน้ำหนักมากถึง 154 กิโลกรัม

รูปที่ 2. การเปรียบเทียบโครงกระดูกของนกเพนกวินคูมิมานู เพตราไดปต์ และจักรพรรดิ (อ้างอิง: Allthatsinteresting)

จากการวิเคราะห์ทำให้คูมิมานูฟอร์ไดซ์เป็นนกเพนกวินที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา ดาเนียล เคเซปกา (Daniel Ksepka) นักบรรพชีวินวิทยาและภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์บรูซ ในกรีนิช รัฐคอนเนตทิคัต ที่เป็นผู้ศึกษาคนแรกกล่าว

ก่อนหน้านี้ เพนกวินที่ใหญ่ที่สุดที่มีการบันทึกคือ เพลียูเดฟทีสแคคเคาสกี (Palaeeudyptes Klekowskii) ซึ่งอาศัยอยู่เมื่อประมาณ 37 ล้านปีก่อน ในทวีปแอนตาร์กติกา มีน้ำหนัก 116 กิโลกรัม และเมื่อยืนจะสูงประมาณ 2 เมตร จนได้รับสมญานามว่า เพนกวินยักษ์ ตัวที่ใหญ่รองลงมาคือ คูมิมานูไบซีเอที่หนักประมาณ 121 กิโลกรัม และมีความยาวลำตัวประมาณ 1.8 เมตร

การค้นพบครั้งใหม่นี้อาจจะชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของกลุ่มเมื่อเวลาผ่านไป สายพันธุ์ใหม่นี้มีกระดูกตีนกบค่อนข้างดึกดำบรรพ์ ดาเนียลกล่าว ในหลายๆด้าน พวกมันคล้ายกับนกที่สามารถบินไปในอากาศและขับเคลื่อนตัวเองใต้น้ำได้ด้วยปีก เช่น นกออคส์และนกพัฟฟิน ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์ใหม่ไม่สามารถบินได้

เพนกวินน่าจะสูญเสียความสามารถในการบินและหันมาว่ายน้ำตั้งแต่เมื่อประมาณ 60 ล้านปีก่อน ไม่นานก่อนที่สายพันธุ์ใหม่จะถือกำเนิดขึ้น ดังนั้นเพนกวินในยุคแรกๆ จึงยังไม่ได้พัฒนาครีบที่มีประสิทธิภาพสูงซึ่งพบในเพนกวินโบราณอายุน้อยกว่าและญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ของพวกมัน

ขนาดมหึมาของคูมิมานูฟอร์ไดซ์แสดงให้เห็นว่าความใหญ่โตมีวิวัฒนาการมาแต่เนิ่นๆในสายเลือดของเพนกวิน ดาเนียลกล่าว มันแสดงให้เห็นว่าข้อได้เปรียบของขนาดตัวที่ใหญ่ เช่น การควบคุมอุณหภูมิและการดำน้ำที่มีประสิทธิภาพมากกว่า อาจจะสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อนกเพนกวินในไม่ช้าหลังจากที่พวกมันสูญเสียการบิน โดยสภาพแวดล้อมที่เป็นเอกลักษณ์ของนิวซีแลนด์โบราณมีบทบาทสำคัญในการเกิดขึ้นของนกเพนกวินยักษ์นี้ นักวิจัยคาดการณ์

รูปที่ 3. ผู้ศึกษาดาเนียล เคเซปกา ที่ถ่ายกับป้ายชื่อคูมิมานูฟอร์ไดซ์ จากนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์บรูซ ในคอนเนตทิคัต  (อ้างอิง: Livescience)

นิวซีแลนด์เป็นสถานที่ที่ยอดเยี่ยมในการเป็นนกเพนกวิน ดาเนียลกล่าว มีแหล่งอาหารที่ดีสำหรับนกทะเลนอกชายฝั่ง และไม่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกนอกจากค้างคาวในนิวซีแลนด์ก่อนที่มนุษย์จะมาถึง ซึ่งทำให้ พื้นที่ทำรังที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

นกเพนกวินยักษ์อย่างคุมิมานูฟอร์ไดซีน่าจะหายไปเมื่อประมาณ 27 ล้านปีที่แล้ว ตามข้อมูลของภูมิศาสตร์ออสเตรเลีย (Australian Geographic) สิ่งที่ทำให้พวกมันสูญพันธุ์ยังคงเป็นคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบ แต่มีแนวโน้มว่านกขนาดมหึมาเหล่านี้อาจจะถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลที่มีขนาดใกล้เคียงกันกำจัดในที่สุด ดาเนียลกล่าว คูมิมานูฟอร์ไดซ์อาจจะเป็นนกเพนกวินที่ใหญ่ที่สุดที่รู้จักจนถึงตอนนี้ แต่เป็นไปได้ว่านกขนาดใหญ่กว่านั้นยังท่องไปในนิวซีแลนด์ ดาเนียลกล่าวว่า ขนาดของคูมิมานูฟอร์ไดซ์ที่ใหญ่นั้นไม่ได้แปลว่าไม่มีสายพันธุ์ที่ใหญ่กว่านี้

อ้างอิง: Livescience, Allthatsinteresting

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *