นี่คือดาว “เคปเลอร์-22บี” ที่โคจรรอบดาวฤกษ์และเหมือนกับโลก

นับตั้งแต่การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกในปี ค.ศ. 1996 ศาสตร์แห่งการค้นพบดาวเคราะห์ก็มีผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ในเวลากว่า 30 ปี ของการวิจัย นักดาราศาสตร์ได้ยืนยันการค้นพบของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากกว่า 3,000 ดวง และรอการยืนยันอีกหลายร้อยดวง แต่ก็มีการค้นพบดาวเคราะห์บางดวงที่มีลักษณะเหมือนกับโลกของเราอยู่ด้วย

ดาวเคปเลอร์-22บี (Kepler-22b) คือดาวเคราะห์ที่มีลักษณะเหมือนกับโลกของเรา แต่ใหญ่กว่าโลกและยังมีชื่อเล่นว่าโลก 2 .0 (Earth2.0) อีกด้วย ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะส่วนใหญ่เหล่านี้ถูกค้นพบโดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ ( The Kepler Space Telescope) ที่เปิดตัวโดยองค์การนาซ่าในปี ค.ศ. 2009 ซึ่งภารกิจหลักของเคปเลอร์นั้นคือการค้นหาดาวเคราะห์ที่อาจจะมีลักษณะคล้ายกับโลกที่มีการโคจรรอบดาวฤกษ์อื่นๆ และเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ในปี ค.ศ. 2011 ได้รับการยืนยันจากนักดาราศาสตร์ที่ได้ประกาศถึงการค้นพบดาวเคราะห์ดวงแรกที่อาจจะคล้ายกับโลกที่โคจรรอบดาวฤกษ์อีกดวงหนึ่ง ในตรวจสอบนั้นจะเป็นการสังเกตดาวฤกษ์และรอดูว่ามีดาวเคราะห์ดวงใดผ่านหน้าดาวฤกษ์หรือไม่

เมื่อดาวเคราะห์เคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์ แสงของดาวฤกษ์จำนวนเล็กน้อยก็ถูกดาวเคราะห์ปิดกั้น และนักดาราศาสตร์สามารถใช้สิ่งนี้เพื่อกำหนดความมีอยู่ของดาวเคราะห์ได้ ซึ่งวิธีนี้เรียกว่าวิธีการส่งผ่าน (Transit Method) ที่สามารถใช้กำหนดขนาดของดาวเคราะห์ ระยะเวลาการโคจร ระยะทางในวงโคจร และแม้กระทั่งการมีอยู่ของชั้นบรรยากาศ ซึ่งดาวเคปเลอร์-22บี อยู่ห่างออกไป 600 ปีแสง ในกลุ่มดาวซิกนัส (Cygnus) และกลายเป็นดาวเคราะห์ดวงแรกที่เคยถูกค้นพบว่าโคจรรอบดาวฤกษ์อยู่ในเขตเอื้อต่อการอยู่อาศัย

ดาวเคปเลอร์-22บี มีวงโคจรรอบดาวฤกษ์ภายในพื้นที่ของเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยได้ที่เรียกว่า โกลดิล็อคส์โซน (Goldilocks Zone) ซึ่งเป็นโซนที่กำลังพอดีคือ สภาพที่ไม่ร้อนเกินไปทำให้น้ำไม่ระเหยและไม่เย็นเกินไปจนทำให้ไม่เป็นน้ำแข็ง ซึ่งอาจจะมีบรรยากาศคล้ายโลก น้ำหรือของเหลวอาจมีอยู่ตามทฤษฎีบนพื้นผิว แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าดาวเคราะห์ดวงนี้จะสามารถอาศัยอยู่ได้ ดาวเคปเลอร์-22บี นั้นใหญ่กว่าโลกโดยมีขนาดประมาณ 2.4 เท่าของโลก มวลของมันนั้นยังคงเป็นปริศนา เนื่องจากวิธีการส่งผ่านข้อมูลไม่สามารถกำหนดมวลของดาวเคราะห์ได้ แต่จากค่าประมาณของดาวเคปเลอร์-22บี จะมีมวลมากกว่าโลกซึ่งมวลน่าจะอยู่ระหว่างมวลของโลกกับดาวเนปจูน ทำให้ถูกเรียกอีกชื่อว่าซุปเปอร์เอิร์ธ (Super-Earth) หรือมินิดาวเนปจูน (Mini-Neptune)

ดาวเคปเลอร์-22บี มีวงโคจรรอบดาวฤกษ์ของมันในระยะใกล้กว่าโลกถึง 15% ดังนั้นเคปเลอร์ 22บี จึงมีวงโคจรรอบดาวฤกษ์ของมัน 290 วันโลกต่อรอบ หรือ 1 ปี บนดาวดวงนี้เท่ากับ 290 วัน บนโลก แต่ดาวฤกษ์ของดาวเคราะห์ดวงนี้นั้นมีแสงหรี่กว่าดวงอาทิตย์ของเราประมาณ 25% ดังนั้นปริมาณความร้อนที่ได้รับจึงต่ำกว่าที่โลกจะได้รับ ถ้าดาวเคปเลอร์-22บี มีชั้นบรรยากาศคล้ายกับโลกก็จะมีอุณหภูมิพื้นผิวปานกลางที่ 22 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม ยังเป็นไปได้ที่ดาวดวงนี้อาจจะมีชั้นบรรยากาศที่แตกต่างจากโลกอย่างมาก ซึ่งหากไม่มีบรรยากาศ ดาวดวงนี้จะมีอุณหภูมิพื้นผิวติดลบถึง -18 องศาเซลเซียส และถ้ามีชั้นบรรยากาศเหมือนดาวศุกร์ก็จะมีอุณหภูมิพื้นผิวถึง 460 องศาเซลเซียส

จากสิ่งที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบันเกี่ยวกับดาวเคปเลอร์-22บี นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าดาวเคราะห์ดวงนี้น่าจะเป็นดาวเคราะห์ที่มีมหาสมุทร มีแรงโน้มถ่วงพื้นผิวที่สูงจะทำให้ยากต่อการสร้างพื้นที่ขนาดใหญ่ และตำแหน่งของมันห่างจากดาวฤกษ์จะทำให้น้ำหรือของเหลวจำนวนมหาศาลก่อตัวขึ้นบนพื้นผิวมีบรรยากาศที่หนาแน่นพอสมควร แต่ก็คิดว่าดาวเคปเลอร์-22บี นั้นสามารถเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่นั้นได้

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะนั้นเป็นเรื่องยากพิเศษที่จะศึกษา เพราะพวกมันไม่เพียงแต่อยู่ไกลมากเท่านั้น แต่พวกมันยังมีแสงสลัวมากเมื่อเปรียบเทียบกับดาวฤกษ์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อกล้องโทรทรรศน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจเป็นไปได้ที่จะสังเกตดาวเคปเลอร์-22บี นี้ได้โดยตรง อย่างเช่นกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (The James Webb Space Telescope: JWST) ที่เปิดตัวในปี ค.ศ. 2021 ได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีที่จำเป็นในการสังเกตการณ์ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ห่างไกลโดยตรง ที่มีศักยภาพที่อาจจะสังเกตการมีอยู่และองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศได้ เราคงต้องรอการตรวจสอบเพิ่มเติมของดาวเคปเลอร์-22บี จากกล้องโทรทรรศน์ที่ทรงพลังนี้

Funfact: ดาวเคปเลอร์ 22-บี นี้เคยมีแคมเปญเสนอเปลี่ยนชื่อเป็น ดาวนาเม็ก ที่เป็นดาวที่อยู่ในการ์ตูนชื่อดังอย่าง ดราก้อนบอล ที่เป็นผลงานของ อากิระ โทริยามา เนื่องจากลักษณะและรูปร่างของมัน

อ้างอิง: Space, Worldatlas

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *