นี่คือ “หนูเจอร์บัว” สามารถกระโดดได้ถึง 3 เมตร

ในทะเลทรายมักจะมีอุณหภูมิที่แตกต่างกันอย่างมาก อย่างทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา ซึ่งเป็นทะเลทรายที่ร้อนที่สุดในโลก มีอุณหภูมิในเวลากลางวันสูงถึง 58 องศาเซลเซียส แต่จะลดลงต่ำกว่าจุดเยือกแข็งในตอนกลางคืน ทำให้สัตว์ในทะเลทรายต้องปรับตัวรับมือกับสภาวะที่รุนแรงนี้ที่มีทั้งทะเลทรายร้อนและเย็น ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะต้องสามารถดำรงอยู่ในพื้นที่ที่แทบจะไม่มีน้ำเลยเกือบทั้งปี

หนูเจอร์บัว (Jerboa) เป็นกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่น่าสนใจมากที่ดูเหมือนจิงโจ้ตัวเล็ก ซึ่งปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตในทะเลทรายทั้งร้อนและเย็น พวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดูแปลกตา หัวและลำตัวมีลักษณะคล้ายกับหนูและมีความยาวตั้งแต่ 3 – 15 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ มีหางขนาดใหญ่กว่าหัวและลำตัวตั้งแต่ 6 – 23 เซนติเมตร ใช้สำหรับทรงตัวเมื่อหนูเจอร์บัวเคลื่อนที่และเป็นที่พยุงเมื่อนั่งตัวตรง ในบางสายพันธุ์หูมีขนาดเล็กเหมือนหนู ในขณะที่บางชนิดจะมีหูจะยาวเหมือนกระต่าย แต่สิ่งที่พิเศษที่สุดสำหรับหนูเจอร์บัวคือขาหลัง ซึ่งมักจะยาวประมาณสี่เท่าของขาหน้า

เมื่อเคลื่อนไหวหนูเจอร์บัวจะดูเหมือนจิงโจ้ตัวเล็กกระโดดไปมา ซึ่งพวกมันปกติจะกระโดดได้ที่ระยะประมาณ 10 – 13 เซนติเมตร ในแต่ละก้าว อย่างไรก็ตาม หากหนูเจอร์บัวถูกคุกคามพวกมันก็สามารถกระโดดได้ถึง 3 เมตร ทำให้สามารถมีความเร็วสูงสุดถึง 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อพวกมันถูกไล่ล่าโดยผู้ล่า พวกมันจะหนีในรูปแบบซิกแซกเพื่อช่วยให้ศัตรูสับสน นักล่าเกือบทุกชนิดในทะเลทรายจ้องที่จะจับหนูเจอร์บัวนี้ โดยเฉพาะสุนัขจิ้งจอก นกฮูก และงู

หนูเจอร์บัวส่วนใหญ่เป็นสัตว์โดดเดี่ยว โดยแต่ละตัวจะมีโพรงของตัวเองแม้ว่าบางครั้งจะมีการสร้างอาณานิคมขนาดเล็กของโพรงแยกกัน มีการผสมพันธุ์ปีละ 2 ครั้ง โดยจะออกลูกครั้งละ 2-6 ตัว ทารกเกิดมาเปลือยเปล่าจะยังไม่มีขนและขาหลังยังไม่พัฒนาจนกว่าจะอายุ 8 สัปดาห์ พวกมันจะไม่สามารถกระโดดได้จนกว่าจะอายุ 11 สัปดาห์ และโตเต็มวัยเมื่ออายุ 14 สัปดาห์ และมีอายุนานถึง 6 ปี ซึ่งเป็นสองเท่าของอายุขัยของหนูทั่วไป

หนูเจอร์บัวอยู่รอดในทะเลทรายด้วยการอาศัยอยู่ใต้ดิน ทำให้สามารถหลบหนีจากความร้อนในเวลากลางวัน ซึ่งมักจะพบโพรงอยู่ใกล้กับพืชพรรณ แต่ในฤดูฝน โพรงจะถูกขุดที่ด้านข้างของเนินเขาหรือเนินดิน ทำให้สามารถหลบหนีจากน้ำท่วมได้ ในช่วงฤดูร้อนที่ร้อนระอุในทะเลทรายแอฟริกาจะมีการอุดดินปิดไว้ตรงทางเข้าโพรงเพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนเข้ามา หนูเจอร์บัวเอเชียจะปิดทางเข้าโพรงในฤดูหนาวเพื่อป้องกันความหนาวเย็น โพรงในฤดูหนาวอาจจะมีความลึกถึง 3 เมตร

พวกมันเป็นยอดนักขุดที่รวดเร็ว โดยพวกมันจะใช้ท่อนแขนสั้นขุดดิน จากนั้นใช้ขาหลังอันทรงพลังดันดินออกไปด้านหลัง พวกมันจะมีรอยพับของผิวหนังเพื่อป้องกันทรายจะเข้าไปในจมูกและมีขนในหูก็ช่วยป้องกันไม่ให้ทรายเข้าไปอีกด้วย

หนูเจอร์บัวจะกินพืชในทะเลทราย หลังฝนตกก็มีใบสีเขียวสดมากมาย แต่เมื่อต้นแห้งทำให้ใบเหล่านี้จะหายากขึ้น ดังนั้นหนูเจอร์บัวจึงขุดลงไปกินรากที่พืชเก็บน้ำไว้กินแทน บางชนิดยังกินแมลงปีกแข็งและแมลงขนาดเล็กอื่นๆด้วย 95% ของอาหารของหนูเจอร์บัวหูยาวในมองโกเลียเป็นแมลง แม้แต่แมลงที่บินได้เนื่องจากพวกมันสามารถระบุตำแหน่งของเหยื่อได้โดยใช้ประสาทสัมผัสในการได้ยิน

หนูเจอร์บัวจะไม่ดื่มน้ำโดยตรง แต่พวกมันจะได้รับน้ำจากอาหาร ในห้องปฏิบัติการหนูเจอร์บัวสามารถอาศัยอยู่ได้นานถึง 3 ปี จากแค่เมล็ดพืชแห้งเพียงอย่างเดียว พวกมันสามารถอยู่รอดได้ในฤดูแล้งโดยลดการสูญเสียน้ำของพวกมันให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งปัสสาวะของพวกเขามีความเข้มข้นสูงและมีความเป็นกรดสูง ในช่วงฤดูร้อน บางชนิดจะเข้าสู่สภาวะอึมครึมและไม่โผล่ออกมาจากโพรงเลย ในช่วงที่เหลือของปี หนูเจอร์บัวที่อาศัยในทะเลทรายร้อนจะกินอาหารส่วนใหญ่ในตอนกลางคืนเมื่ออากาศเย็นลง

ในบางประเทศสามารถเลี้ยงเพาะพันธุ์ได้ แต่จำเป็นจะต้องออกแบบที่เลี้ยงเป็นพิเศษ เพราะว่าหนูเจอร์บัวจะขุดโพรงอยู่ในทะเลทรายและแยกโพรงเป็นสัดส่วน แต่ในประเทศไทยนั้นยังไม่มีผู้เพาะพันธุ์

อ้างอิง: Ypte

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *