รู้ป่าว! การที่เรา “ขนลุก” นั้นมีประโยชน์อะไร

ในขณะที่คุณกำลังเดินกลับบ้านตอนพลบค่ำและตัวสั่นเมื่อลมหนาวพัดผ่านมา ขนที่อยู่ตามแขนของคุณก็ลุกขึ้นและปรากฏตุ่มเล็กๆ โดยการตอบสนองแบบนี้เป็นเรื่องปกติเมื่อเรารู้สึกหนาวเย็น กลัว ดีใจ หรือแม้แต่การปวดท้องเข้าห้องน้ำ แต่ว่าทำไมเราถึงขนลุก

แม้ว่าจะมีคำอธิบายที่เป็นไปได้หลายอย่างว่าเหตุใดร่างกายของเราจึงเกิดอาการขนลุกได้ โดยนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ใต้ผิวหนังของเรานั้นมีกล้ามเนื้อเล็กๆหลายพันเซลล์ที่เรียกว่า อาร์เรคเตอร์ พิลี (Arrector pili) หนึ่งมัดสำหรับขนแต่ละเส้นบนร่างกาย โดยเส้นประสาทที่ขดอยู่รอบๆ อาร์เรคเตอร์ พิลี จะส่งสัญญาณไฟฟ้าไปที่กล้ามเนื้อเมื่อต้องการหดตัว และเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นจะทำให้เกิดการขนลุก

การขนลุก (Piloerection) นั้นไม่ได้มีประโยชน์มากนักสำหรับมนุษย์ แต่ความสามารถนี้นั้นมีประโยชน์สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนยาว ตามรายงานประจำปี ค.ศ. 2014 ในวารสาร Folia Primatologica นอกจากนี้นกและสัตว์เลื้อยคลานยังมีการขนลุก แต่ในสัตว์เหล่านี้จะเปลี่ยนจากขนลุกเป็นเกล็ดของพวกมันแทน ซึ่งการขนลุกนั้นมีจุดประสงค์เพื่อทำให้ขนของมันฟูขึ้น เพื่อที่จะสร้างชั้นฉนวนหนาๆมาปกป้องตัวของพวกมันเอง

เมื่อสัตว์ที่มีขนยาวรู้สึกว่าถูกคุกคามและไม่ปลอดภัย การขนลุกนี้จะทำให้พวกมันดูใหญ่ขึ้นสำหรับผู้รุกราน โธมัส ชูเบิร์ต (Thomas Schubert) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ ผู้ร่วมวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการขนลุกกับอารมณ์กล่าว ลองนึกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อสุนัขของคุณได้ยินเสียงของคนส่งของเข้ามาใกล้ประตู และแน่นอนพวกมันจะเห่าโดยขนที่หลังคอจะฟูขึ้น ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด รวมทั้งชิมแปนซีหรือไพรเมต (Primate) ซึ่งเป็นญาติที่ใกล้ชิดที่สุดของมนุษย์ ก็มีการตอบสนองแบบเดียวกันต่อความกลัวหรือการรุกราน ตามบทความของ Folia Primatologica แต่เนื่องจากขนตามร่างกายของมนุษย์นั้นมีน้อย การทำให้ขนลุกฟูนั้นแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก

สำหรับมนุษย์อย่างเรา มันไม่ได้ทำอะไรเพื่อปกป้องเราเลย เอมี พาลเลอร์ (Amy Paller) หัวหน้าแผนกโรคผิวหนังแห่งโรงเรียนแพทย์ไฟน์เบิร์กแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น กล่าว แต่จากข้อเท็จจริงที่ว่า การขนลุกนั้นมีอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับนกและสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิด นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอารการลักษณะนี้มีอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคแรกสุด ตามบทความของ Folia Primatologica มันถูกส่งต่อไปยังไพรเมต

มนุษย์มีลักษณะหลายอย่างที่เราไม่จำเป็นต้องใช้ มันเป็นแค่ของที่ระลึกจากบรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมของเราเท่านั้นเอง ชวาร์ต (Schwartz) กล่าว

การขนลุกไม่ใช่ว่าจะมีเฉพาะตอนที่เรารู้สึกหนาวหรือกลัวเท่านั้น เรายังมีอาการขนลุกเมื่อเราเจอกับอารมณ์รุนแรงอื่นๆ เช่น เมื่อเราเห็นคนที่รักชนะการประกวด โดยปฏิกิริยานั้นน่าจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการตื่นตัวระบบประสาท ลองคิดดูว่าหัวใจของคุณจะเต้นแรงแค่ไหน เมื่อคุณกลัวหรือรู้สึกตื่นเต้น ซึ่งในทั้งสองกรณีนี้ระบบประสาทของคุณจะทำงานในทำนองเดียวกันกับเส้นประสาทที่พันรอบกล้ามเนื้ออาร์เรคเตอร์ พิลี โดยไม่สนใจว่าคุณจะกลัวหรือตื่นเต้น ชูเบิร์ตกล่าว

คำอธิบายที่เป็นไปได้อีกประการหนึ่งคือ การขนลุกอาจจะกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมใหม่ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cell ในปี ค.ศ. 2020 ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้เก็บตัวอย่างผิวหนังของหนูและได้กำจัดเส้นประสาทที่พันรอบอาร์เรคเตอร์ พิลี ซึ่งผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่าเซลล์ต้นกำเนิดรากผมที่เป็นเซลล์ที่ผลิตเส้นผม จะถูกกระตุ้นได้ช้ากว่าปกติและเส้นผมใหม่จะใช้เวลาในการเจริญเติบโตนานกว่าเดิมด้วย

การใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (Electron Microscopy) นักวิทยาศาสตร์พบว่าเส้นประสาทเหล่านี้พันกันกับทั้งเซลล์อาร์เรคเตอร์ พิลิและสเต็มเซลล์ของเส้นผม จากผลการวิจัยนี้ นักวิจัยเสนอว่าการขนลุกช่วยให้สัตว์มีขนมากขึ้นในปกป้องต่อความหนาวเย็น ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นไปได้ว่า ทำไมการขนลุกจึงถูกส่งต่อไปยังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทุกชนิด

ในท้ายที่สุด อาการขนลุกที่ปรากฏขึ้นบนทางเดินที่อากาศหนาวเย็นไม่ได้ช่วยอะไรให้ร่างกายอบอุ่นมากนัก แต่จะเป็นเครื่องเตือนใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับลูกพี่ลูกน้องของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก และสัตว์เลื้อยคลาน

อ้างอิง: livescience

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *