นี่คือ “กบแก้ว”(โปร่งแสง) จนสามารถมองเห็นหัวใจได้

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพยายามค้นหาสิ่งต่างๆที่เรายังไม่รู้จักหรือไม่เคยพบเห็นทั้งนอกและในโลกของเรา ซึ่งการศึกษามีทั้งการสำรวจสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต นี่คือการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่ค่อนข้างแปลกที่มีผิวหนังที่โปร่งแสงจนสามารถเห็นหัวใจได้

กบแก้ว (Glass Frog) เป็นกบที่มีสีเขียวและมีจุดสีเหลืองอ่อนเล็กๆที่หลังของมันและผิวหนังส่วนที่ท้องมีลักษณะโปร่งแสงจนสามารถมองเห็นอวัยวะภายในและหัวใจได้ มีขนาดเล็กซึ่งมีความยาวตั้งแต่ 2-7.5 เซนติเมตร ซึ่งเป็นการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ 2 สายพันธุ์ จากเทือกเขาแอนดีส (Andes) ในเอกวาดอร์ (Ecuador)

โดยทีมนักวิจัยนานาชาติได้อธิบายว่าสองสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอยู่ในตระกูลเซนโทรลีนาดี (Centrolenidae) ซึ่งมีมากกว่า 150 สายพันธุ์ และสปีชีส์ของสกุลเป็นไฮยาลิโนบาทราเชียม (Hyalinobatrachium) จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการโปร่งแสงช่วยให้กบแก้วสามารถพรางตัวจากผู้ล่าได้

กบเหล่านี้พบได้ในเขตนีโอโทรพิแคล (Neotropical) ซึ่งเป็นโซนที่มีอากาศร้อนของทวีปอเมริกาจากตอนใต้ของเม็กซิโก ผ่านอเมริกากลาง ไปจนถึงครึ่งทางเหนือของอเมริกาใต้ และตามแนวป่าแอตแลนติกทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล และขอบด้านตะวันออกเฉียงเหนือสุดของอาร์เจนตินา ซึ่งความหลากหลายของพวกมันกระจุกตัวอยู่ในเทือกเขาแอนดีสตอนเหนือ ซึ่งมีสายพันธุ์มากกว่าครึ่งจาก 83 ในวงศ์

กบแก้วที่ค้นพบ 2 สายพันธุ์นั้นคือ กบแก้วแมสพิ (Mashpi Glass Frog)เป็นที่รู้จักเฉพาะในพื้นที่แถวแม่น้ำแมสพิ (Mashpi River) เมืองพิจิณชา (Pichincha) ซึ่งกบแก้วแมสพิตัวผู้จะปกป้องไข่ของมันจนกว่าจะฟักออกมาเป็นลูกอ๊อด ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่งคือ กบแก้วนาวส์ (Nouns’ Glass Frog) เป็นที่รู้จักจากเขตสงวนริโอแมนดูเรียคู (Río Manduriacu Reserve) และป่าสงวนลอสเซโดรส (Bosque Protector Los Cedros) ที่ระดับความสูง 1,177-1,420 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าทั้ง 2 สายพันธุ์ใหม่นี้ถูกระบุว่าใกล้สูญพันธุ์ตามเกณฑ์ของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (The International Union for Conservation of Nature: IUCN) สายพันธุ์ใหม่เหล่านี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความหลากหลายที่คลุมเครือในเทือกเขาแอนดีส ซึ่งเป็นหลักฐานเพิ่มเติมว่าภูมิภาคนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตามกบแก้วเหล่านี้และสายพันธุ์ที่ยังไม่ได้ค้นพบอีกจำนวนมากกำลังถูกคุกคามจากการขุดเหมืองและอุตสาหกรรมที่เอารัดเอาเปรียบที่ทำลายธรรมชาติอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตะวันตกเฉียงเหนือในเอกวาดอร์ หวังว่าในอนาคตจะมีการรณรงค์และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติในที่แห่งนี้และทั่วโลกก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

อ้างอิง: Sci, Theguardian, Mining

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *