นี่คือ “ปลาบิน”(Flying Fish) ที่สามารถบินร่อนได้นานถึง 45 วินาที

โดยปกติแล้วถ้าพูดถึงสัตว์น้ำส่วนใหญ่หลายคนน่าจะนึกถึงปลาสัตว์น้ำที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำ แต่ในมหาสมุทรทั่วโลก คุณอาจจะเห็นภาพที่แปลกประหลาด ที่สามารถปลากระโจนขึ้นจากน้ำและบินร่อนก่อนที่จะกลับสู่ความลึกของมหาสมุทร

รูปที่ 1. ปลาบินสีสนิม (Rustwinged Flying Fish) (อ้างอิง: Outinafrica)

นี่คือปลาบิน (Flying Fish) ซึ่งมีสายพันธุ์ประมาณ 40 สายพันธุ์ ซึ่งทั้งหมดมีรูปร่างคล้ายซิการ์ (Cigar-Shaped) มีครีบอกยาวและกว้างที่ข้างลำตัวทั้งสองด้านเหมือนเป็นปีก โดยปลาบินสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ แบบ 2 ปีก ซึ่งมีครีบอกขนาดใหญ่สอง ซึ่งจะมีเพียงปลาบินปีกสีขาว (Whitewings) เท่านั้นที่มีสองปีก ส่วนสายพันธุ์อื่นทั้งหมดจะเป็นแบบ 4 ปีก ซึ่งมีครีบอกขนาดใหญ่ 2 ครีบ และ ครีบเล็กอีก 2 ครีบ และปลาบินทั้งหมดจะมีหางที่แยกเป็นแฉกในแนวดิ่งแบบไม่สมมาตร ในรูปร่างที่เรียกว่าไฮโปเซอร์แคล (Hypocercal) โดยกระดูกสันหลังจะยื่นเข้าไปในครีบด้านล่างที่ยาวกว่า ทำให้ดูเหมือนหางเสือเรือ

ปลาบินเหล่านี้มีความยาวตั้งแต่ประมาณ 15 ถึง 50 เซนติเมตร โดยปลาบินจะเริ่มบินในช่วงวัยรุ่น เมื่อพวกมันมีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ตามการอธิบายของจอห์น ดาเวนพอร์ต (John Davenport) นักชีววิทยาของปลาบินในปี ค.ศ. 1994 ที่ตีพิมพ์ในวารสารบทวิจารณ์ในชีววิทยาปลาและการประมง (Reviews in Fish Biology and Fisheries) จอห์นเสนอว่าปลาชนิดนี้พัฒนาความสามารถในการบิน เพื่อหลบเลี่ยงนักล่าที่ว่ายน้ำเร็ว เช่น โลมา

ตาของปลาบิน ซึ่งโดยเฉพาะกระจกตาจะมีสิ่งปกป้องรูปทรงพีระมิดที่สามารถปกป้องดวงตาของพวกมัน ที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้ปลาสามารถมองเห็นใต้น้ำและในอากาศได้ ตามการศึกษาในปี ค.ศ. 1967 ที่ตีพิมพ์ในวารสารธรรมชาติ (Nature) โดยปกติแล้วปลาบินส่วนใหญ่จะกินกุ้งและปลาขนาดเล็ก ตามรายงานของสำนักงานประมงหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands Forum Fisheries Agency)

รูปที่ 2. ปลาบินปีกสีขาวแบบ 2 ปีก (อ้างอิง: Outinafrica)

ปลาบินสามารถทะยานเหนือน้ำด้วยความเร็วสูงมาก ซึ่งเป็นเวลานานหลายทศวรรษมาแล้วที่นักชีววิทยาไม่สามารถบอกได้อย่างแน่นอนว่าปลากำลังขับเคลื่อนตัวเองด้วยการกระพือครีบอกและบินเหมือนนก หรือปลากำลังใช้วิธีการพิเศษบางอย่างในการขับเคลื่อน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1941 นักวิทยาศาสตร์ได้ตีพิมพ์ภาพถ่ายความเร็วสูงของปลาบินได้ในวารสารสัตววิทยา (Zoologica) โดยภาพถ่ายแสดงให้เห็นว่าปลาบินได้กระโจนขึ้นจากน้ำและบินเหินร่อนเคลื่อนตัวไปในอากาศ

ปลาบินว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความเร็วประมาณ 1 เมตรต่อวินาที ซึ่งเท่ากับ 20-30 เท่าของความยาวลำตัวต่อวินาที โดยการฟาดหางด้วยความแรงและจับครีบอกแน่นแนบกับลำตัว เมื่อพวกมันพุ่งขึ้นจากน้ำพวกมันจะกางครีบที่ขยายออกและร่อนบินไปในอากาศ

การร่อนของปลาที่บินได้นานที่สุดที่เคยบันทึกไว้คือปลาที่บินได้ 45 วินาที ด้วยความเร็วประมาณ 30 กม./ชม. ตามรายงานของกินเนสส์บุ๊กเวิลด์เรคคอร์ด (Guinness World Records) ที่ได้บันทึกการบินในปี ค.ศ. 2008 โดยทีมงานตากล้องชาวญี่ปุ่นจากสถานีเอ็นเอชเค (NHK) ที่เดินทางด้วยเรือเฟอร์รี่ในเมืองคาโกชิมะ (Kagoshima) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งระยะการบินที่ไกลที่สุดของปลาบินที่บันทึกได้คือประมาณ 400 เมตร ตามการอธิบายของจอห์นในปี ค.ศ. 1994 ที่ปลาบินสามารถเพิ่มความสูงได้ถึง 8 เมตร เหนือผิวน้ำ และสามารถร่อนติดต่อกันได้ ตามการอธิบายของแฟรงค์ ฟิช (Frank Fish) นักชีววิทยาในปี ค.ศ. 1990 ที่ตีพิมพ์ในวารสารสัตววิทยา (Journal of Zoology) และปลาบินจะกระโจนกลับลงไปในน้ำเมื่อสิ้นสุดการร่อน มันก็จะเริ่มว่ายเร็วมากในทันที เพิ่มความเร็วเพื่อสร้างแรงขับมากพอที่จะยกขึ้นจากน้ำอีกครั้ง ปลาอาจจะมีการร่อนติดต่อกันได้ถึง 12 ครั้ง แฟรงค์กล่าว

จอห์นและผู้เชี่ยวชาญด้านปลาอื่นๆ สงสัยว่าปลาบินไม่น่าจะบินได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส เนื่องจากอุณหภูมิที่เย็นกว่ามักจะขัดขวางการทำงานของกล้ามเนื้อที่จำเป็นที่จะต้องใช้ในการเพิ่มความเร็วสำหรับการพุ่งขึ้นจากน้ำ

ปลาบินไม่ถือว่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หรือถูกคุกคาม และจัดอยู่ในประเภทที่มีความกังวลน้อยที่สุดโดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติกล่าว ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ปลาบินแบบ 4 ปีก ได้กลายเป็นศูนย์กลางของข้อพิพาทระหว่างประเทศระหว่างบาร์เบโดส (Barbados) และตรินิแดด (Trinidad) และโตเบโก (Tobago) และประเทศหมู่เกาะแคริบเบียนที่อยู่ใกล้เคียง ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่มีเป้าหมายทางการค้าในทั้งสองประเทศ บาร์เบโดสยังนำสโลแกน “ดินแดนแห่งปลาบิน” มาใช้เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่ยาวนานของปลา

แต่การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการอพยพของปลา อาจจะเป็นเพราะภาวะโลกร้อน ทำให้พวกมันว่ายบ่อยขึ้นในน่านน้ำรอบๆ ประเทศตรินิแดดและโตเบโก ชาวประมงชาวโทเบโกเนียกล่าวหาชาวบาร์เบโดสว่าจับปลามากเกินไปในน่านน้ำที่ไม่ใช่ของบาร์เบโดส แต่ในฐานะแหล่งอาหารดั้งเดิมของบาร์เบโดส ชาวประมงบาร์เบโดสเชื่อว่าพวกเขามีสิทธิ์จับปลาบินไม่ว่าปลาจะอยู่ที่ไหน ซึ่งในปี ค.ศ. 2006 คดีอนุญาโตตุลาการเพื่อยุติข้อพิพาทด้านการประมงได้กำหนดพรมแดนทางทะเลของแต่ละประเทศและถือเป็นชัยชนะของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าความขัดแย้งจะยังคงอยู่ นักวิจัยได้เขียนในบทสรุปของความขัดแย้งที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2007 ในวารสารนโยบายทางทะเล (Marine Policy) และเสนอว่าข้อตกลงที่มีการเจรจาเกี่ยวกับโครงการจำกัดการเข้าถึงและโควตาการจับปลาจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการประมงในอนาคต

อ้างอิง: Livescience, Guinnessworldrecords, Outinafrica

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *