นี่คือ “หมึก”(ดัมโบ้) ที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลที่ลึกที่สุดเท่าที่มนุษย์รู้จัก

ในทะเลนั้นเป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา เต่าหรือหมึกชนิดต่างๆ

รูปที่ 1. หมึกดัมโบ้ (อ้างอิง: Factanimal)

นี่คือหมึกดัมโบ้ (Dumbo Octopus) ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นหมึกที่น่ารักที่สุด โดยหมึกชนิดนี้เป็นหมึกที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลที่ลึกที่สุดที่มนุษย์รู้จัก ซึ่งที่มาของชื่อมาจากครีบคล้ายหูช้างที่ยื่นออกมาจากด้านข้างของหัว ซึ่งคล้ายกับภาพยนตร์ดิสนีย์ในปี ค.ศ. 1941 เรื่องดัมโบ้ ซึ่งมีตัวละครหลักเป็นช้างบินได้ที่มีหูขนาดใหญ่ โดยครีบเหล่านี้ช่วยให้พวกมันเคลื่อนที่ผ่านน้ำและเคลื่อนผ่านกระแสน้ำในมหาสมุทร และยังช่วยให้หมึกว่ายโฉบไปมาขณะที่มันค้นหาเหยื่อ พวกมันมีรูปร่างคล้ายระฆังขนาดยาวเฉลี่ย 20-30 เซนติเมตร แต่ตัวใหญ่ที่สุดที่เคยบันทึกไว้มีขนาด 1.8 เมตร และมีน้ำหนักสูงสุด 5.9 กิโลกรัม มีสีซีดกึ่งโปร่งแสง และมีแขนที่สั้นม่อต้อ มีอายุประมาณ 3-5 ปี โดยสามารถพบได้ในน่านน้ำทั่วโลก เช่น ในออสเตรเลีย แคลิฟอร์เนีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี พวกมันอาศัยอยู่ที่ระดับความลึกมาก ซึ่งสามารถพบได้ที่ระดับความลึกถึง 4,000 เมตร

หมึกดัมโบ้เป็นหนึ่งสกุลของหมึกร่ม (Umbrella Octopus) ชนิดหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าพวกมันมีผิวหนังที่เชื่อมหนวดของมัน นี่คือสิ่งที่ทำให้หมึกมีรูปร่างกลม โครงสร้างที่นิ่มและคล้ายเยลลี่ที่ช่วยให้พวกมันจัดการกับแรงดันสูงของน้ำใต้ทะเลลึกได้ โดยมีหมึกแฟลปแจ็ค (Flapjack Octopus) ก็เป็นหนึ่งในสกุลของหมึกดัมโบ้ เรียกว่าหมึกแฟลปแจ็คทั้งหมดเป็นหมึกดัมโบ้ แต่ไม่ใช่หมึกดัมโบทุกตัวที่เป็นหมึกแฟลปแจ็ค นักวิจัยรู้จักหมึกดัมโบ้เพียง 15 สายพันธุ์ พวกมันเป็นสัตว์กินเนื้อโดยจะตะครุบและกินเหยื่อทั้งตัว พวกมันเป็นสัตว์หาอาหารที่ค้นหาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กจำพวกกุ้ง หอยสองฝา หนอน และโคพีพอด ทั้งเหยื่อและผู้ล่านั้นค่อนข้างเบาบางที่ระดับความลึกที่ยากจะหยั่งถึงที่หมึกดัมโบอาศัยอยู่ ดังนั้นจึงยังมีอีกมากที่เราไม่รู้เกี่ยวกับสัตว์ที่เข้าใจยากชนิดนี้

รูปที่ 2. หมึกแฟลปแจ็คหรือหมึกดัมโบ้ (อ้างอิง: Oceanfirstinstitute)

หมึกดัมโบ้ไม่สามารถเคลื่อนที่ด้วยการใช้แรงขับของน้ำได้ ซึ่งแตกต่างจากหมึกและหมึกยักษ์หลายชนิด ซึ่งเป็นกระบวนการขับน้ำด้วยความเร็วสูงเพื่อเป็นตัวกลางในการเคลื่อนที่ โดยหมึกดัมโบ้จะใช้ครีบและแขนในการบังคับทิศทาง พวกมันมีหัวใจ 3 ดวง ที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกายและกลับมารับออกซิเจนอีกครั้ง หัวใจดวงหนึ่งทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ในขณะที่หัวใจอีกดวงทำหน้าที่ขับเคลื่อนเลือดผ่านเหงือกของหมึก อีกทั้งยังมีเลือดเป็นสีฟ้าเพราะมีปริมาณทองแดงสูง ซึ่งทองแดงนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าในการหมุนเวียนออกซิเจนไปทั่วร่างกายเมื่ออุณหภูมิต่ำมาก

พวกมันมีดวงตาที่ใหญ่โตที่สามารถวัดความกว้างหนึ่งในสามของหัวพวกมัน ที่ช่วยในการรับแสงจำนวนเล็กน้อยที่ส่องลงมาจากพื้นผิวทำให้พวกมันมองเห็นในที่มืดใต้ทะเลลึกได้ หมึกดัมโบ้นั้นไม่มีถุงน้ำหมึก ซึ่งเป็นกลไกการป้องกันทั่วไปที่หมึกจำนวนมากใช้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากผู้ล่า เนื่องจากหมึกดัมโบอาศัยอยู่ที่ระดับความลึกเช่นนี้ พวกมันจึงไม่ใช้วิธีนี้ในการหลบหนีจากการเผชิญหน้า

พวกมันผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี โดยหมึกดัมโบ้ตัวผู้จะถ่ายโอนสเปิร์มไปยังตัวเมียเพื่อปฏิสนธิกับไข่ที่วางบนเปลือกหอยหรือก้อนหิน ซึ่งตัวเมียสามารถเก็บสเปิร์มไว้ได้จนกว่าไข่ของพวกมันจะพร้อมที่จะปฏิสนธิ โดยตัวผู้จะส่งสเปิร์มไปยังตัวเมียผ่านทางเฮกโตโคไทลัส (Hectocotylus) ซึ่งเป็นโครงสร้างคล้ายแขนที่ยื่นเข้าไปในเสื้อคลุมของตัวเมีย จากนั้นตัวเมียสามารถเก็บสเปิร์มเหล่านี้ได้จนกว่าสภาวะการปฏิสนธิจะเหมาะสมที่สุดในช่วงเวลาต่างๆกันตลอดทั้งปี ดังนั้นจึงเชื่อกันว่าไม่มีฤดูกาลใดที่เจาะจง

เมื่อลูกฟักเป็นตัวและออกจากไข่แล้ว หมึกดัมโบ้จะสามารถดูแลตัวเองได้ โดยถุงไข่แดงของพวกมันมีสารอาหารที่ช่วยบำรุงลูกอ่อนหลังคลอด สิ่งนี้ทำให้มีเวลาเรียนรู้เทคนิคการล่าในช่วงสองสามวันแรก โดยพวกมันสามารถพรางตัวได้โดยการเปลี่ยนสีผิว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสีเกิดจากโครมาโตฟอร์ (Chromatophores) ซึ่งเป็นอวัยวะเปลี่ยนสีขนาดเล็กที่พบใต้พื้นผิวของผิวหนังซึ่งเต็มไปด้วยเม็ดสี

อย่างไรก็ตาม หมึกดัมโบ้เหล่านี้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมที่มีแรงดันสูง โดยหมึกเหล่านี้ไม่สามารถอยู่รอดได้ในบ่อน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งการนำพวกมันออกจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติจะเป็นการฆ่าพวกมัน ต่อให้พวกมันน่ารักแค่ไหน พวกมันก็ไม่สามารถเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงหรือในตู้ปลาได้

อ้างอิง: Factanimal, Oceanfirstinstitute, Outforia

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *