นี่คือปรากฏการณ์ “ต้นไม้เขิน”(อาย) ที่เว้นระยะห่างกันของต้นไม้

เคยสังเกตกันหรือไม่ว่าต้นไม้ที่ปลูกอยู่ใกล้ๆกัน บางทีกิ่งไม้และใบไม้บนยอดของพวกมันจะไม่ซ้อนทับขอบเขตของกันและกัน ซึ่งสร้างความแปลกใจให้กับนักวิทยาศาสตร์และคนทั่วไปที่พบเห็น

นี่คือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ต้นไม้เขินอาย (Crown Shyness) ของต้นไม้ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ยอดของต้นไม้แต่ละต้นจะเว้นระยะห่างหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้สัมผัสกับยอดไม้อีกต้น ทำให้เกิดเหมือนกับเส้นแบ่งและเขตแดนบนท้องฟ้า ซึ่งผู้เชี่ยวชาญไม่แน่ใจว่าเหตุใดปรากฏการณ์นี้จึงเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่พวกเขาได้ทำการศึกษามาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วและมีอยู่หลายทฤษฎี

ทฤษฎีแรกเกี่ยวข้องกับการแข่งขันเพื่อแย่งชิงทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงสว่าง ตามที่เวเนราเบิลทรี (Venerable Trees) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านการอนุรักษ์กล่าวว่า ต้นไม้มีระบบที่ซับซ้อนที่ใช้ในการวัดแสงและบอกเวลา พวกมันสามารถบอกได้ว่าใบไม้โดนแสงแดดจากดวงอาทิตย์หรือไม่ มีการตรวจจับแสงสีแดงที่สะท้อนบนใบไม้หลังจากการชนของต้นไม้ที่อยู่ใกล้ๆกัน โดยเมื่อพวกมันตรวจพบว่ามีแสงที่สะท้อนจากใบไม้ นั่นเป็นสัญญาณว่ามีต้นไม้อื่นอยู่ใกล้ๆ พวกมันชะลอการเจริญเติบโตไปในทิศทางนั้นและและเติบโตไปในทิศทางอื่นแทน

อย่างที่สองที่เกี่ยวกับการสังเคราะห์ด้วยแสง บางคนเชื่อว่ากระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ เมื่อส่วนหนึ่งของยอดต้นไม้ถูกบังด้วยต้นไม้ข้างเคียง ต้นไม้ที่โดนเงาจะหยุดเติบโตในบริเวณนั้น ทำให้เกิดช่องว่าง

อีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นไปได้สำหรับต้นไม้เขินอายคือ การป้องกันการแพร่กระจายของแมลงและโรค ซึ่งนักพฤกษศาสตร์บางคนคิดว่าต้นไม้มีพัฒนากลยุทธ์นี้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของแมลงและแบคทีเรียและเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคได้ง่ายผ่านยอดใบไม้ แนวคิดก็คือการเว้นช่องว่างระหว่างยอดของต้นไม้แต่ละต้น ซึ่งจะทำให้ไม่มีสะพานเชื่อมต่อระหว่างต้นไม้นั่นเอง

อีกเหตุผลอาจจะเป็นจากการบาดเจ็บของต้นไม้ เนื่องจากต้นไม้มักจะแกว่งไกวตามลม ทำให้ต้นไม้เหล่านั้นย่อมจะชนกับต้นไม้อื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากอยู่ใกล้กันเพียงพอ สิ่งนี้จะหักกิ่งก้านของต้นไม้ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างต้นไม้ข้างเคียง หรือสาเหตุเกิดจากอัลเลโลพาที (Allelopathy) เป็นสมมติฐานที่ว่าต้นไม้ข้างเคียงสื่อสารกันโดยใช้สารเคมีและบอกต้นไม้อื่นว่ามีต้นไม้อย่างตรงนี้ ทำให้พวกมันหยุดเติบโตไปในทิศทางนั้น

ต้นไม้เขินอายสามารถเกิดขึ้นได้กับต้นไม้หลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น ต้นโกงกางดำ (Black Mangrove), ต้นการบูร (Camphor), ต้นยูคาลิปตัส (Eucalyptus), ต้นสิทก้าสปรูซ (Sitka Spruce), และต้นสนญี่ปุ่น (Japanese larch) เป็นต้น ซึ่งระยะห่างระหว่างต้นไม้เขินอายนี้สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างสปีชีส์ที่แตกต่างกัน สปีชีส์เดียวกัน หรือแม้แต่ภายในต้นไม้เดียวกันเอง

ต้นไม้เขินอายนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกๆป่า แต่ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลาและมีแนวโน้มที่จะเห็นต้นไม้เขินอายนี้ในป่าเขตร้อนมากกว่า

อ้างอิง: Treehugger, Interestingengineering

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *