รู้จักกับสารกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ที่มีทั้งประโยชน์และโทษในตัว

จากข่าวที่มีการพบว่าซีเซียม-137 (Cesium-137) ได้หายไปและได้ถูกพบอีกครั้งที่โรงหลอมเหล็ก เรามาดูว่าซีเซียม-137 นั้นคืออะไร

รูปที่ 1. ซีเซียม-137 (Cesium-137) (อ้างอิง: Canva, Qsa-global)

ซีเซียม-137 เป็นสารกัมมันตรังสีที่มีคุณสมบัติทางเคมีที่แผ่รังสีบีตาและแกมมาออกมา โดยเป็นธาตุที่มีการสลายตัวครึ่งชีวิต 30.17 ปี โดยจะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง แต่เนื่องจากซีเซียม-137 นั้นสามารถจับกับคลอไรด์ (Chlorides) ได้อย่างง่ายดาย จึงมักเกิดเป็นผงผลึกมากกว่าในรูปของเหลว

ประโยชน์ในการใช้ซีเซียม-137 ในปริมาณน้อยนั้นใช้สำหรับอุปกรณ์ตรวจจับรังสี เช่น ไกเกอร์มูลเลอร์เคาน์เตอร์ (Geiger-Mueller counters) และใช้ในปริมาณที่มากขึ้นในอุปกรณ์รังสีที่ใช้รักษาในทางการแพทย์สำหรับการรักษามะเร็ง ใช้ในมาตรวัดอุตสาหกรรมที่ตรวจจับการไหลของของเหลวผ่านท่อ และใช้ในอุปกรณ์อุตสาหกรรมอื่นๆเพื่อวัดความหนาของวัสดุ เช่น กระดาษ ฟิล์มถ่ายภาพ หรือแผ่นโลหะ

ซีเซียม-137 นั้นผลิตโดยนิวเคลียร์ฟิชชัน (Nuclear Fission) เพื่อใช้ในเครื่องมือแพทย์และมาตรวัดซีเซียม-137 เป็นหนึ่งในผลพลอยได้จากกระบวนการนิวเคลียร์ฟิชชันในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ โดยซีเซียม-137 ปริมาณเล็กน้อยสามารถพบได้ในสิ่งแวดล้อมหลังจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1950 และ 1960 และจากอุบัติเหตุจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เช่น จากเหตุการณ์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลในปี ค.ศ. 1986 ซึ่งซีเซียม-137 ได้กระจายไปยังหลายประเทศในยุโรป

อย่างไรก็ตาม ซีเซียม-137 เป็นอันตรายเมื่อพบในปริมาณมากและเข้มข้น โดยจากภายนอกอาจจะทำให้เกิดการไหม้ การเจ็บป่วยจากกัมมันตภาพรังสีเฉียบพลัน และถึงขั้นเสียชีวิตได้ การสัมผัสกับซีเซียม-137 ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเนื่องจากการสัมผัสกับรังสีแกมมาพลังงานสูง หากได้รับซีเซียม-137 จากอาหารที่คุณกินหรือน้ำที่คุณดื่ม จากอากาศที่คุณหายใจ หรือจากการสัมผัสกับผิวหนังของคุณ เมื่อคุณกิน ดื่ม หายใจ หรือสัมผัสสิ่งต่างๆที่มีส่วนประกอบของซีเซียม-137 ที่สามารถละลายในน้ำได้ง่าย ซีเซียม-137 จะเข้าสู่กระแสเลือดและถูกส่งไปยังทุกส่วนของร่างกาย

ซีเซียมก็เหมือนโพแทสเซียม จะเข้าสู่เซลล์และช่วยรักษาสมดุลของประจุไฟฟ้าระหว่างภายในและภายนอกเซลล์ เพื่อให้เซลล์สามารถทำงานต่างๆที่ขึ้นอยู่กับประจุไฟฟ้าเหล่านั้นได้ เช่น เซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ประสาทต้องการการเปลี่ยนแปลงของประจุไฟฟ้าเพื่อให้ทำงานได้อย่างถูกต้องและช่วยให้คุณสามารถคิดและเคลื่อนไหวได้ แต่เมื่อซีเซียมเข้าสู่ร่างกายของคุณ ไตของคุณจะเริ่มกำจัดซีเซียมออกจากเลือด ซีเซียมบางส่วนจะถูกขับออกจากร่างกายอย่างรวดเร็วทางปัสสาวะและอุจจาระในปริมาณเล็กน้อย ซีเซียมบางส่วนที่ร่างกายดูดซึมสามารถคงอยู่ในร่างกายได้นานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แต่จะค่อยๆกำจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะและอุจจาระ

รูปที่ 2. อาการที่พบและข้อควรปฏิบัติหลังการสัมผัสกับรังสี (อ้างอิง: Canva)

โดยอาการที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับรังสี ซีเซียม-137 คือ
1. มีผิวหนังเกิดการอักเสบ แดงหรือไหม้ จากบริเวณที่โดนรังสี
2. มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเหลว
3. มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
4. มีอาการอ่อนเพลียและขาดน้ำ
5. มีอาการง่วงซึม หนาวสั่น สับสน ชัก โคม่าและอาจเสียชีวิต

ข้อควรปฏิบัติหลังการสัมผัสกับรังสี
1. ลดการปนเปื้อน โดยการอาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที โดยจะต้องเก็บเสื้อผ้าใส่ถุงปิดปากให้สนิทเพื่อตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหรือไม่
2. ไปลงทะเบียนยังหน่วยงานที่กำหนดให้มีการจัดทำทะเบียนสำหรับผู้สัมผัสหรืออยู่ในเหตุการณ์เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพและควบคุมการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี
3. ห้ามหยิบจับวัตถุทุกชนิด ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามนำมือสัมผัส บริเวณภายในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ได้กำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่อันตราย

อ้างอิง: Cdc, Oap

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *