นี่คือดาวหางสีเขียว “C/2022 E3″(ZTF) ที่เข้าใกล้ที่สุดในรอบ 50,000 ปี

ถ้าหากเรามองขึ้นไปบนท้องฟ้าในยามค่ำคืนที่มืดและปลอดโปร่ง ก็มักจะเห็นดวงดาวมากมาย ทั้งดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์อย่างดาวอังคาร ดวงจันทร์หรือดาวหาง

รูปที่ 1. ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ถ่ายเมื่อวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 2023 (อ้างอิง: Michael Jäger)

นี่คือดาวหางสีเขียวที่มีชื่อว่า C/2022 E3 (ZTF) ซึ่งหายากที่ไม่มีใครเห็นตั้งแต่ยุคหิน โดยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 ดาวหางเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุดเป็นในรอบ 50,000 ปี ซึ่งหมายถึงครั้งสุดท้ายที่มันโคจรผ่านโลกของเราและจากการคำนวณของนักดาราศาสตร์ ดาวหางจะไม่มีวันกลับมาอีก

ดาวหาง C/2022 E3 ถูกค้นพบโดยแฟรงค์ มาสกี้ (Frank Masci) และไบรซ์ โบลิน (Bryce Bolin) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2022 นักดาราศาสตร์พบดาวหางโดยใช้ซวิคกี้ทรานซิเอนฟาสิริตี้ (Zwicky Transient Facility: ZTF) ที่เป็นหน่วยงานรัฐบาลและเอกชนร่วมมือกันศึกษาระบบของท้องฟ้ายามค่ำคืนด้วยแสง โดยจะใช้กล้องที่มีการมองเห็นแบบกว้างทำการสแกนท้องฟ้าทางตอนเหนือทั้งหมดในทุกๆ 2 วัน ที่หอดูดาวพาโลมาร์ (Palomar) ในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ในขณะที่ค้นพบนั้น ดาวหางดวงนี้อยู่ในวงโคจรของดาวพฤหัสบดี ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เกือบ 643 ล้านกิโลเมตร

รูปที่ 2. วงโคจรการเคลื่อนที่ของดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) (อ้างอิง: Forthimage)

โดยดาวหางเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 แต่คุณไม่จำเป็นต้องรอจนถึงเดือนกุมภาพันธ์เพื่อดูดาวหางดวงนี้ มี 2-3 วิธี ที่จะมองเห็นก่อนที่มันจะเข้าใกล้ที่สุด โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ ในวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา ดาวหางจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด เมื่อดาวหางเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ น้ำแข็งของพวกมันจะระเหิด ซึ่งหมายความว่ามันจะกลายเป็นก๊าซ โดยข้ามสถานะของเหลว ซึ่งการระเหิดนี้สร้างบรรยากาศชั่วคราวที่เรียกว่า โคม่า (Coma) ซึ่งทำให้มองเห็นการเรืองแสงจากมุมมองของเรา

โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงก่อนรุ่งสางของวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 2023 ดาวหางอาจมองเห็นได้ใกล้กับกลุ่มดาวโคโรน่าบอเรลลิส (Corona Borealis) บนท้องฟ้าทางเหนือ และจะเคลื่อนไปทางทิศตะวันตกเมื่อเวลาผ่านไป หากสภาพการรับชมไม่เหมาะสมในพื้นที่ของคุณ คุณสามารถรับชมสตรีมสดจากโครงการกล้องโทรทรรศน์เสมือนจริง (Virtual Telescope Project) ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 2023

ในคืนวันที่ 26-27 มกราคม ค.ศ. 2023 ดาวหางอาจจะมองเห็นได้ทางตะวันออกของกลุ่มดาวกระบวยเล็ก (Little Dipper) ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าดาวหางจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าภายในสัปดาห์ที่สามของเดือนมกราคม ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 เมื่อดาวหางเข้าใกล้โลกมากที่สุดที่ห่างออกไป 45 ล้านกิโลเมตร ดาวหางจะเข้าใกล้กลุ่มดาวคาเมโลปาร์ดาลิส (Camelopardalis) ไม่กี่วันต่อมา ในวันที่ 5 และ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 ดาวหางจะเคลื่อนไปทางทิศตะวันตกของดาวคาเปลลา (Capella) แล้วเข้าสู่กลุ่มดาวอารีกา (Auriga)

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการรับประกันว่าคุณจะเห็นดาวหาง หากคุณอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีมลภาวะทางแสงสูง ดาวหางจะจางเกินไปที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่า แม้จะอยู่ในบริเวณที่มีมลพิษทางแสงน้อย ยิ่งดาวหางเข้ามาใกล้โลกมากเท่าไหร่ แสงของดาวหางก็จะยิ่งกระจายไปทั่วบริเวณกว้างมากขึ้นเท่านั้น ทางออกที่ดีที่สุดของคุณคือการแสวงหาพื้นที่ที่มีท้องฟ้ามืดและปลอดโปร่ง

อ้างอิง: Livescience

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *