นี่คือปรากฏการณ์ “บลูเจ็ท”(แสงสีน้ำเงิน) ภาพจากสถานีอวกาศนานาชาติ

ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกนั้น บางทีการที่อยู่ในอวกาศแล้วมองมายังโลกอาจจะได้เห็นมุมมองใหม่ๆที่แปลกตาจากการมองอยู่บนโลก นี่คือภาพที่นักวิทยาศาสตร์บนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) พบแสงสีน้ำสว่างพุ่งขึ้นจากเมฆฝนฟ้าคะนอง

รูปที่ 1.  ปรากฏการณ์บลูเจ็ท (Blue jets) (อ้างอิง: Livescience)

นี่คือปรากฏการณ์บลูเจ็ท (Blue jets) ที่เป็นลำแสงสีน้ำเงินที่เกิดจากการคายประจุไฟฟ้าพุ่งออกมาจากเมฆฝนฟ้าคะนอง ซึ่งอาจจะมองเห็นได้ยากจากพื้นดิน แต่ในอวกาศนั้นนักวิทยาศาสตร์สามารถมองจากสถานีอวกาศนานาชาติลงมายังโลก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2019 เครื่องมือบนสถานีอวกาศสามารถจับภาพปรากฏการณ์บลูเจ็ทที่เปล่งแสงออกมาจากพายุฝนฟ้าคะนองใกล้กับนาอูรู (Nauru) ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายเหตุการณ์นี้ในรายงานซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2021 ในวารสารเนเชอร์ (Nature)

โดยนักวิทยาศาสตร์พบแสงสีน้ำเงินกะพริบถี่ๆ 5 ครั้ง โดยในแต่ละครั้งจะกินเวลาประมาณ 10 ถึง 20 มิลลิวินาที จากนั้นปรากฏการณ์บลูเจ็ทก็กระจายออกจากเมฆเป็นรูปกรวยแคบๆที่ลำแสงทอดยาวไปถึงบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือพื้นผิวโลกประมาณ 10 ถึง 50 กิโลเมตร

รูปที่ 2.  ปรากฏการณ์บลูเจ็ท (Blue jets) (อ้างอิง: Livescience)

ปรากฏการณ์บลูเจ็ทจะเกิดขึ้นเมื่อบริเวณด้านบนของเมฆที่มีประจุบวกมีปฏิสัมพันธ์กับประจุลบระหว่างเมฆกับอากาศด้านบน ตามรายงาน ปรากฏการณ์บลูเจ็ทเป็นผลมาจาก การเบรกดาวน์ของไฟฟ้า (Electric Breakdown) ซึ่งประจุของขั้วตรงข้ามจะสลับตำแหน่งในก้อนเมฆและทำให้เท่ากันในช่วงเวลาสั้นๆโดยปล่อยไฟฟ้าสถิต อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติของปรากฏการณ์บลูเจ็ทและระดับความสูงที่พวกมันแผ่ออกไปเหนือเมฆนั้นไม่ได้มีลักษณะเฉพาะที่ดีนัก ซึ่งผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกต ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมให้เข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์อันน่าทึ่งนี้

นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า แสงที่กะพริบ 4 ครั้ง ก่อนหน้าที่จะเกิดปรากฏการณ์บลูเจ็ทนั้นมาพร้อมกับคลื่นพัลส์เล็กๆของแสงอัลตราไวโอเลต (UV) พวกเขาระบุว่าการฉายลำแสงเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรียกว่า เอลฟ์ (Emissions of Light and Very Low Frequency Perturbations: Elves) ที่มาจากการปล่อยแสงและคลื่นรบกวนความถี่ต่ำมาก เนื่องจากแหล่งกำเนิดพัลส์แม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Pulse Sources) ที่เป็นการปล่อยแสงที่ปรากฏเป็นวงแหวนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในบรรยากาศไอโอสเฟียร์ (Ionosphere) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ในชั้นบรรยากาศชั้นบนที่เหนือพื้นโลกประมาณ 60 ถึง 1,000 กิโลเมตร ซึ่งเอลฟ์เกิดขึ้นเมื่อคลื่นวิทยุผลักอิเล็กตรอนผ่านชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ทำให้พวกมันเร่งความเร็วและชนกับอนุภาคที่มีประจุอื่นๆทำให้พวกมันปล่อยพลังงานออกมาเป็นแสง

ทีมงานสังเกตแสงกะพริบ เอลฟ์ และบลูเจ็ทโดยใช้การตรวจสอบปฏิสัมพันธ์ระหว่างบรรยากาศและอวกาศขององค์การอวกาศยุโรป (Atmosphere-Space Interactions Monitor: ASIM) ซึ่งเก็บข้อมูลโดยกล้องออปติคัล (Optical Cameras) โฟโตมิเตอร์ (Photometers) เครื่องตรวจจับเอ็กซ์เรย์ (X-ray) และเครื่องตรวจจับรังสีแกมมา (Gamma-ray) ที่ติดอยู่กับโมดูลบนสถานีอวกาศ

ผู้ประสานงานด้านวิทยาศาสตร์กายภาพสำหรับยานอวกาศของมนุษย์และหุ่นยนต์กับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) กล่าวในแถลงการณ์ว่า ผู้เชี่ยวชาญยังสงสัยว่าปรากฏการณ์บรรยากาศชั้นบน เช่นเดียวกับปรากฏการณ์บลูเจ็ท อาจจะส่งผลต่อความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ เนื่องจากพวกมันเกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ที่มีชั้นโอโซนอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเป็นอย่างมาก

อ้างอิง: Livescience

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *