นี่คือการค้นพบ “รองเท้าหนัง”(อารีนิ 1) ซึ่งมีอายุประมาณกว่า 5,500 ปี

ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปมักจะต้องมีสิ่งหนึ่งที่มักจะถูกใช้เป็นประจำ นั่นก็คือรองเท้า สิ่งที่ใช้สวมใส่เพื่อปกป้องส่วนเท้าของคนเรา แต่ต้นกำเนิดหรือรองเท้าในยุคโบราณจะเป็นไหนกัน

รูปที่ 1. รองเท้าอารีนิ 1 (อ้างอิง: Newatlas)

นี่คือรองเท้าหนังอารีนิ 1 (Areni-1) ซึ่งมีอายุประมาณกว่า 5,500 ปี และเป็นรองเท้าหนังที่เก่าแก่ที่สุดที่นักโบราณคดีเคยรู้จัก โดยถูกพบฝังอยู่ในบ่อมูลแกะในถ้ำแห่งหนึ่งในเมืองวาโยตอซซอร์ (Vayotoz Dzor) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอาร์เมเนีย (Armenia) ซึ่งเป็นตัวอย่างของรองเท้าพื้นฐานยุคแรกๆ ซึ่งอาจจะมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการออกแบบรองเท้าประเภทอื่นๆในโลกยุคโบราณ จากข้อมูลของ นักมนุษยวิทยาเชื่อว่ามนุษย์เริ่มสวมรองเท้าเมื่อประมาณ 40,000 ปีก่อน ซึ่งมีส่วนทำให้เท้าและแขนขาของมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาค อย่างไรก็ตาม เราแทบไม่มีความคิดเลยว่ารองเท้ายุคก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

รองเท้าหนังที่มีความเก่าแก่ที่สุด ซึ่งทำจากหนังถูกพบในถ้ำห่างไกลในอาร์เมเนียในปี ค.ศ. 2008 รองเท้าดังกล่าวถูกขุดขึ้นมาโดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่นำโดยนักโบราณคดีจากสถาบันโบราณคดีและชาติพันธุ์วิทยาแห่งสถาบันแห่งชาติ วิทยาศาสตร์แห่งอาร์เมเนีย ซึ่งทีมงานกำลังสำรวจถ้ำที่รู้จักกันในชื่อ อารีนิ 1 ในเมืองวาโยตอซซอร์ ซึ่งบรรจุซากต่างๆจากยุคหินใหม่และยุคทองแดงจำนวนหนึ่ง รวมถึงภาชนะที่ใช้บรรจุอาหารที่บรรจุข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี และแอปริคอต

รูปที่ 2. ทางเข้าสู่ถ้ำอารีนิ 1 ทางตอนใต้ของอาร์เมเนีย (อ้างอิง: Thevintagenews)

ตัวรองเท้าอารีนิ 1 ถูกพบอยู่ในหลุม ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้อย่างสมบูรณ์ในสภาพถ้ำที่แห้งและเย็น มันถูกทับถมและประสานด้วยมูลแกะหลายชั้นซึ่งทำหน้าที่เป็นปกป้องสิ่งที่อยู่ในหลุมจากอากาศและน้ำ รองเท้าอารีนิ 1 นั้นทำมาจากหนังกลับชิ้นเดียวที่มาจากหนังวัว มันถูกเย็บที่ด้านหน้าและด้านหลังและผูกเข้าด้วยกันด้วยสายหนัง และดูเหมือนว่าจะถูกสร้างมาตามขนาด โดยหนังอาจจะพันรอบเท้าก่อนเย็บเพื่อให้แน่ใจว่ากระชับพอดี มันสอดคล้องกับขนาดของรองเท้านี้ที่ทำจากหนังกลับชิ้นเดียวและมีรูปร่างที่พอดีกับผู้สวมใส่ ซึ่งรองเท้ามีขนาดสำหรับเท้ายาว 24.5 เซนติเมตร และเป็นไปได้ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงก็ใส่ได้

รองเท้ายังเต็มไปด้วยหญ้า นักโบราณคดีไม่สามารถระบุได้ว่าสิ่งนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้มั่นใจว่ารองเท้าคงรูปในขณะที่ไม่ได้สวมใส่ หรือว่าเป็นฉนวนที่ออกแบบมาเพื่อให้เท้าของผู้สวมใส่อบอุ่น

ซึ่งจากการตรวจสอบรองเท้าพบว่ามีอายุคาร์บอนประมาณ 3,500 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้เป็นรองเท้าหนังที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยถูกค้นพบที่ถูกบันทึกโดยกินเนสส์บุ๊กเวิลด์เรคคอร์ด (Guinness World Records) รองเท้าน่าจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้อาศัยในถ้ำในยุคทองแดง เนื่องจากบริเวณรอบๆถ้ำเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีภูมิประเทศเป็นหิน ที่มีหินแหลมและพืชที่มีหนาม ซึ่งตัวรองเท้าเองมีร่องรอยการสึกหรอค่อนข้างมาก โดยเฉพาะที่ส้นรองเท้า ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้สวมใส่มักเดินเป็นระยะทางไกลๆเป็นประจำ

รูปที่ 3. แหล่งโบราณคดีอารีนิ 1 ในปี ค.ศ. 2012 (อ้างอิง: Thevintagenews)

ข้อสันนิษฐานนี้ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากสิ่งของอื่นๆ ที่ค้นพบในถ้ำ รวมทั้งหินออบซิเดียน (Obsidian) ซึ่งคิดว่านำมาจากสถานที่ซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 120 กิโลเมตร รองเท้านี้ดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างของการออกแบบรองเท้าหนังในยุคแรกสุด โดยเป็นการสร้างต้นแบบพื้นฐานที่จะส่งออกไปทั่วภูมิภาค

รองเท้านี้มีความคล้ายคลึงกับรองเท้าโบราณอื่นๆ ที่ค้นพบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนืออย่างมาก และยังนำไปเปรียบเทียบกับเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมจากคาบสมุทรบอลข่านและแอฟริกาเหนือ ซึ่งยังคงสวมใส่ในเทศกาลต่างๆในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันมีความใกล้เคียงกับโอแพนเค (Opanke) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของรองเท้าบอลข่าน (Balkan Footwear) แบบดั้งเดิมอีกด้วย

อ้างอิง: Thevintagenews, Guinnessworldrecords, Nationalgeographic

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *