นี่คือการค้นพบ “เหรียญทองคำ”(โรมัน) ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยค้นพบมา

ในอดีตนั้นมีจักรวรรดิที่เจริญรุ่งเรืองมากมาย มีอารยธรรม มีการก่อสร้างสถานที่สำคัญๆต่างๆ และยังมีสมบัติที่เป็นเครื่องประดับและเหรียญทองจำนวนมากมาย

รูปที่ 1. เหรียญทองคำของชาวโรมัน (อ้างอิง: Ancientcoins)

นี่คือการค้นพบคอลเลกชันเหรียญทองคำของชาวโรมัน (Ancient Roman Coins) ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยค้นพบมา ในปี ค.ศ. 1993 ที่ประกอบด้วยเหรียญทองคำจำนวนกว่า 2,650 เหรียญ ที่มีน้ำหนักรวม 18.5 กิโลกรัม ในเมืองเทรียร์ (Trier) ซึ่งเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศเยอรมนี โดยเมืองนี้ก่อตั้งโดยชนเผ่าเซลติก (Celtic tribe) แห่งเทรเวอรี (Treveri) ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล มันถูกพิชิตโดยชาวโรมันภายใต้การปกครองโดยจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ในปี 58 ถึง 50 ปีก่อนคริสตกาล จุดเริ่มต้นของเมืองเทรียร์คือเป็นเมืองในฐานะที่ตั้งถิ่นฐานถาวรของชาวโรมันเชื่อมโยงกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานราว 16 ปีก่อนคริสตกาลภายใต้จักรพรรดิออกัสตัส (Emperor Augustus) เมืองนี้กลายเป็นที่รู้จักในชื่อออกัสตา เทรเวอร์โรรัม (Augusta Treverorum) ซึ่งเป็นเมืองของจักรพรรดิออกัสตัสในดินแดนแห่งเทรเวอรี

ในศตวรรษที่ 4 เมืองเทรียร์เป็นเมืองที่สำคัญที่สุดทางตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์ของจักรวรรดิโรมัน และเป็นหนึ่งในเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันตก ประชากรในเวลานั้นจะมีอยู่ประมาณ 75,000 ถึง 100,000 คน ซึ่งเกือบจะเท่ากับในปัจจุบัน

รูปที่ 2. พอร์ทา นิกรา ที่เป็นป้อมปราการโบราณของเมืองเทรียร์ (อ้างอิง: Writesofpassage)

เมืองเทรียร์นั้นมีโครงสร้างแบบโรมันมากกว่าเมืองอื่นๆในยุโรปที่อยู่นอกกรุงโรม โดยมรดกของโรมันทำให้เมืองเทรียร์มีโครงสร้างโบราณหลากหลายประเภทที่น่าทึ่ง เมื่อเราเดินทางเข้าสู่เมืองเทรียร์ เราจะต้องข้ามสะพานโรมันที่ทอดข้ามแม่น้ำโมเซล พื้นและส่วนโค้งได้รับการบูรณะใหม่ในศตวรรษที่ 18 แต่เสา 9 ต้น มีอายุเกือบ 2,000 ปี และสามารถรองรับการจราจรในยุคปัจจุบันได้และเป็นสะพานยืนที่เก่าแก่ที่สุดในเยอรมนี โดยโครงสร้างแบบโรมันที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองคือพอร์ทา นิกรา (Porta Nigra) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป้อมปราการโบราณของเมืองที่สร้างขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 161-180 อยู่ทางเหนือของจัตุรัสตลาด

เมืองเทรียร์มีคอลเลกชันเหรียญโรมันโบราณที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นการค้นพบคอลเลกชันเหรียญทองที่ใหญ่ที่สุดที่เคยพบจากยุคจักรวรรดิโรมัน โดยการค้นพบเหรียญทองเหล่านี้ น่าจะเป็นคลังสมบัติของทางการ เมื่อเปรียบเทียบได้กับเงินเดือนประจำปีของทหารโรมันในยุคนั้นจะได้อยู่ที่ประมาณ 130 นาย โดยเหรียญที่ค้นพบแสดงให้เห็นถึงจักรพรรดิ จักรพรรดินี และสมาชิกราชวงศ์ทั้งหมด 27 พระองค์ และบางเหรียญยังถือว่าเป็นเอกลักษณ์จนถึงทุกวันนี้

เหรียญทองเหล่านี้ถูกฝังไว้ในห้องใต้ดินในช่วงสงครามกลางเมืองในปี ค.ศ. 196 โดยโคลดิอุส อัลบินัส (Clodius Albinus) ได้ก่อการจลาจลต่อต้านจักรพรรดิเซ็ปติมิอุส เซเวอร์รัส (Emperor Septimius Severus) เมื่อเขาแต่งตั้งการากัลลา (Caracalla) ลูกชายของเขาเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์แทนโคลดิอุส และคิดว่าอดีตผู้ดูแลคลังสมบัติน่าจะนำความลับเรื่องที่ซ่อนสมบัติ เก็บไว้ติดตัวจนเขาได้ตายลง

โดยคอลเลกชันเหรียญโรมันโบราณเหล่านี้สามารถเยี่ยมชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ไรนิสเชสในเทรียร์ (Rheinisches Landesmuseum Trier) โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์โบราณคดีที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี และยังเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุที่สำคัญที่สุดของโรมันในยุโรปอีกด้วย ที่มีวัตถุโบราณครอบคลุมถึง 200,000 ปี ตั้งแต่ยุคหิน โรมัน และฟรังโกเนีย จนถึงยุคบาโรก มีวัตถุประมาณ 4,500 ชิ้น ที่นี่บอกเล่าเรื่องราวของบริเวณนี้ และได้มีการจัดแสดงเหรียญทั้งหมด 12,000 เหรียญ ในนิทรรศการ นอกจากการค้นพบทางโบราณคดีแล้ว ยังให้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของระบบการเงินและวิธีการผลิตเงินในสมัยโบราณ ยุคกลาง และสมัยใหม่อีกด้วย

อ้างอิง: Visitworldheritage, Writesofpassage

One comment

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *