นี่คือ “แพะภูเขา”(อัลไพน์) ที่ชอบปีนป่ายอยู่ตามหน้าผา

ในโลกเรานั้นสัตว์ส่วนใหญ่ก็มักอาศัยตามแหล่งน้ำ ไม่ก็พื้นที่ราบลุ่ม แต่ก็มีสัตว์บางประเภทที่ท้าทายแรงโน้มถ่วงโลก ด้วยการอาศัยอยู่ตามแนวเทือกเขาริมหน้าผา

รูปที่ 1. แพะภูเขาอัลไพน์ (อ้างอิง: Canva)

นี่คือแพะภูเขาอัลไพน์ (Alpine Ibex) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่ชอบปีนป่ายไปตามเทือกเขาริมหน้าผา พวกมันมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าสไตน์บอค (Steinbock) และบูบูติน (Bouquetin) และมักจะอาศัยอยู่ใกล้กับแนวหิมะบนเทือกเขาของเทือกเขาแอลป์ (Mountains Alps) ในทวีปยุโรป ที่พาดผ่านอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ บัลแกเรีย สโลวีเนีย และออสเตรีย โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล พวกมันเป็นสัตว์สังคมและพวกมันมักจะอยู่รวมกันเป็นฝูงตามเพศและอายุ โดยแพะตัวผู้และตัวเมียที่โตเต็มวัยจะมารวมกันเพื่อผสมพันธุ์ในแต่ละปี

พวกมันเป็นสัตว์ที่โดดเด่นที่สุดชนิดหนึ่งในภูเขาของยุโรป และมีลูกพี่ลูกน้องที่กระจายอยู่ตามเทือกเขาทั่วโลก แพะภูเขามีทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ได้แก่ แพะภูเขาอัลไพน์ (Alpine Ibex), แพะภูเขานูเบียน (Nubian Ibex), แพะภูเขาวาเลีย (Walia Ibex), แพะภูเขาสเปนหรือไอเบอเรียน (Spanish or Iberian Ibex), แพะเอเชียหรือไซบีเรีย (Asiatic or Siberian Ibex) และแพะป่าซึ่งเรียกอีกอย่างว่าแพะเอเชียตะวันตก (West Asian Ibex)

รูปที่ 2. แพะภูเขาอัลไพน์พักผ่อนที่ริมหน้าผา (อ้างอิง: Reddit)

แพะภูเขาอัลไพน์มีขนาดความสูงประมาณ 1 เมตร ยาว 1.7 เมตร และสามารถยืนได้สูงกว่า 1.5 เมตร มีน้ำหนักสูงสุดประมาณ 117 กิโลกรัม ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาลเทา โดยอาหารส่วนใหญ่มักจะเป็นต้นหญ้า ใบไม้ ดอกไม้ ตะไคร่น้ำ และกิ่งไม้ จะมีอายุสูงสุดประมาณ 19 ปี แพะภูเขาอัลไพน์ได้รับการปรับให้เข้ากับการอนุรักษ์พลังงานในสภาพแวดล้อมบนเทือกเขาที่หนาวเหน็บได้เป็นอย่างดี อีกวิธีหนึ่งที่พวกมันใช้กันโดยการใช้ทรัพยากรให้น้อยลงคือการมีขนาดของหัวใจที่เล็กลงและการเผาผลาญอาหารช้าลง ด้วยเหตุนี้ พวกมันจึงใช้กลวิธีของสัตว์ประเภทเอคโทเทอร์มิค (Ectothermic) หรือสัตว์เลือดเย็น เช่น การอาบแดดบนโขดหินอุ่นๆเพื่อลดความจำเป็นในการดึงไขมันสำรองมาใช้ในฤดูหนาว

พวกมันเป็นแพะภูเขาขนาดใหญ่ที่มีเขาที่โค้งไปด้านหลังเหนือศีรษะ โดยเขาตัวเมียโดยทั่วไปจะเล็กกว่า ในขณะที่ตัวผู้จะยาวกว่าและโค้งกว่า ซึ่งเขาของพวกมันสามารถโตได้ถึง 140 เซนติเมตร และน้ำหนักได้ถึง 15 กิโลกรัม เขาของพวกมันจะเติบโตตลอดชีวิตซึ่งใช้สำหรับการต่อสู้และการป้องกัน โดยตัวผู้มักจะต่อสู้โดยการเอาหัวโขกกันเพื่อสร้างอำนาจ ซึ่งทำให้เกิดเสียงสะท้อนจะดังไปทั่วภูเขา

แต่ส่วนใหญ่พวกมันจะไม่ต่อสู้กันมากนัก ซึ่งเป็นปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ช่วยให้อายุยืนยาวขึ้น พวกมันมีความสามารถในการแก้ไขข้อขัดแย้งโดยใช้วิธีการที่ใช้พลังงานต่ำ ซึ่งการต่อสู้ก็ใช้พลังงานมากและอาจจะนำไปสู่การบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ พวกมันมักจะไม่ค่อยท้าทายตัวผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าและอ้างถึงลำดับชั้นการปกครองที่ดูเหมือนจะกำหนดไว้ล่วงหน้าซึ่งทุกตัวมักจะเห็นด้วยและปฏิบัติตาม ซึ่งหมายความว่าแพะภูเขาอัลไพน์เป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีกีบเท้าที่ก้าวร้าวน้อยที่สุด

แพะภูเขาอัลไพน์มีโครงขาและกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรง ทำให้พวกมันว่องไวอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งสามารถกระโดดได้สูงกว่า 2 เมตร โดยที่ไม่ต้องวิ่ง พวกมันว่องไวเป็นพิเศษและกีบเท้าของมันทำหน้าที่เหมือนถ้วยดูดที่ช่วยให้พวกมันยึดเกาะบริเวณที่เป็นหินได้และนี่เป็นการปรับตัวเข้ากับแหล่งที่อยู่อาศัยบนภูเขาได้ดี พวกมันมักจะปีนเขื่อนโดยมีการพบเห็นพวกมันขูดหินปูนตามสันเขื่อนเพียงเพื่อจะเลียคราบแร่ธาตุที่ถูกน้ำพัดพาผ่านโขดหิน แหล่งแร่ธาตุเหล่านี้เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดสำหรับแพะภูเขาอัลไพน์ในการได้รับอิเล็กโทรไลต์และสารอาหารรองที่มีคุณค่า แต่เพียงก้าวผิดไปครั้งเดียวพวกมันก็อาจจะล้มและตกลงมาตายได้ง่ายๆ

พวกมันเคยใกล้จะสูญพันธุ์ในอดีต โดยเหลืออยู่น้อยกว่า 100 ตัว บนเทือกเขาแอลป์ เนื่องจากในอดีตมีการล่าพวกมันเพื่อเอาเขามาทำยา ทำให้ถูกล่าจนเกือบสูญพันธุ์ ทำให้เกิดปัญหาหนึ่งที่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ต้องเผชิญนั่นคือการขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม สิ่งนี้เรียกว่าคอขวดและอาจจะหมายความว่าแม้ว่าประชากรจะยังคงอยู่ แต่ยีนของมันไม่มีความหลากหลายเพียงพอที่จะปกป้องพวกมันจากปัญหาการผสมพันธุ์ ดูเหมือนว่า แพะภูเขาอัลไพน์จะพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการผสมพันธุ์กับฝูงแพะในประเทศซึ่งมีถิ่นที่อยู่อาศัยทับซ้อนกัน วิธีนี้ไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีอย่างที่คิด เนื่องจากลูกผสมแพะภูเขาอัลไพน์มีแนวโน้มที่จะมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำมากเนื่องจากมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในเทือกเขาแอลป์ เนื่องจากมีคำสั่งห้ามล่าสัตว์ในช่วงทศวรรษ 1800 และเป็นการถือกำเนิดของอุทยานแห่งชาติ รวมถึงโครงการแลกเปลี่ยนสัตว์และการนำสัตว์กลับคืนสู่ธรรมชาติ ทำให้ประชากรของพวกมันเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในปี ค.ศ. 1991 มีการบันทึกไว้มากกว่า 20,000 ตัว และในปี ค.ศ. 2015 จำนวนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 55,000 ตัว ทำให้พวกมันถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มความกังวลน้อยที่สุดโดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN)

อ้างอิง: Factanimal

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *